”อ.ปริญญา”กางข้อกฎหมายแจงเหตุสลายการชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา จนท.ทำผิดกฎหมายและทำเกินกว่าเหตุ
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมและจับกุมโดย #ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ #ต้องขอศาลก่อน
แม้ว่าพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จะกำหนดว่า การจัดชุมนุมจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง (มาตรา 10) โดยหากไม่แจ้งก่อนจะถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 14)
แต่การดำเนินการต่อการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย #เจ้าหน้าที่จะต้องมีการประกาศให้เลิกชุมนุมก่อน (มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1)) หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม #เจ้าหน้าที่ก็จะต้องไปร้องขอต่อศาลเพื่อมีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม โดยศาลที่ต้องไปขอคือศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด (มาตรา 22) ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งให้เลิกชุมนุม แล้วผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงจะมีอำนาจ “ดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุม” โดยประกาศพื้นที่ตรงนั้นให้เป็น “พื้นที่ควบคุม” และให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ในเวลาที่กำหนด (มาตรา 23) เมื่อเวลาครบกำหนดแล้วผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่ถึงจะไปจับกุม และดำเนินการอื่นๆ ให้เลิกชุมนุมได้ (มาตรา 24)
แล้วสำหรับ #การชุมนุมที่หน้าสถานทูต จริงๆ แล้วพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะก็ไม่ได้ห้าม เพียงแต่กำหนดว่า “ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่” (มาตรา 8(4)) และหากมีการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ก็ต้อง “ประกาศให้แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด” ก่อน (มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(2)) หากผู้ชุมนุมไม่แก้ไข ถ้าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อไปก็ต้องไปขออำนาจศาลก่อนเช่นกัน
ว่าง่ายๆ คืออยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมเลยไม่ได้ แม้จะเป็นการชุมนุมที่ไม่แจ้งก่อน หรือเป็นการชุมนุมที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายคือ #1ต้องมีคำสั่งให้เลิกชุมนุมก่อน จากนั้น #2ต้องไปขอศาลให้มีคำสั่งให้เลิกชุมนุม ต่อเมื่อศาลสั่งให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก จึงจะ #3ดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุม โดย #4ต้องประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมและกำหนดเวลาให้ออกจากพื้นที่ก่อน เมื่อเวลาครบกำหนดแล้วผู้ชุมนุมยังไม่ออกจากพื้นที่ ถึงจะไป #จับกุม ได้ครับ
เพราะตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 คือ ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นก่อน #โดยการสลายการชุมนุมต้องเป็นวิธีท้ายที่สุด และดังนั้นจึงต้องยากที่สุด คือต้องไปขอศาลก่อน จนบางท่านสงสัยว่ามัวแต่ต้องไปขอศาลก่อนจะไปทันเวลาได้อย่างไร ก็สงสัยไม่ผิดหรอกครับ เพราะการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ หรือไม่ค้างคืน ไม่ยืดเยื้อ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะไม่ต้องการให้ไปสลายครับ เพราะเค้าไม่ได้ยืดเยื้อและเลิกกันเองอยู่แล้ว การสลายการชุมนุมจึงใช้เฉพาะการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ไม่ยอมเลิกเท่านั้นครับ
แล้วถ้าจะบอกว่าสถานการณ์ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ต้องใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่ต้องใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อันนี้ก็ไม่ถูกครับ เพราะการชุมนุมที่ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เป็นแค่ประเด็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การควบคุมหรือสลายก็ต้องทำตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะอยู่ดีครับ และถ้าหากจะอ้าง พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ผมก็ขอให้เจ้าหน้าที่ดูมาตรา 17 ของ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินด้วยครับ คือการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้อง “ไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น” ครับ
เจ้าหน้าที่รัฐมักจะเรียกร้องให้ประชาชนทำตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำตามกฎหมายด้วยเช่นกัน กรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และรวมถึงในวันนี้ที่มีการสลายการชุมนุมและจับกุมโดยไม่ไปผ่านศาลและทำตามขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายก่อน ผมเห็นว่า #เจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดกฎหมาย และสำหรับตามภาพนี้ผมเห็นว่า #ทำเกินกว่าเหตุ ด้วยครับ