“พล.อ.ประวิตร” เดินหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ย้ำการปกป้องคุ้มครองเหยื่อต้องทำทันที อย่าให้เกิดช่องว่างช่วงการแพร่ระบาดโควิด จี้แรงงานผลักดันให้นายจ้างลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในระบบโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวน 2 คณะต่อเนื่องกัน ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมประชุม เพื่อดำรงความต่อเนื่องขับเคลื่อนแผนและการปฏิบัติการป้อง กันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
ที่ประชุมรับทราบ รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง ชุมชนพลัดถิ่นในฐานะเครือข่ายความปลอดภัยในการปกป้องเด็กตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดย พบภาพรวมการค้ามนุษย์ทางเพศ เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย โดยไทยเป็นทั้งต้นทาง ทางผ่านและปลายทางที่สำคัญของการค้ามนุษย์ทางเพศเด็ก ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนกว่า รวมทั้งเด็กชาวไทยภูเขาในอีสานถูกนำพาไปค้ามนุษย์ตามเมืองท่องเที่ยวหลักๆ และมีการบริการในรูปแบบต่างๆ
การค้ามนุษย์ในเด็กผู้ชายเป็นปัญหาที่ถูกซ่อนเร้น รัฐบาลและ NGO ยังคงมีความพยายามร่วมกันในการแก้ปัญหาและปกป้องผู้เสียหายและดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายต้องร่วมแสดงความจริงใจร่วมกันให้มากขึ้นด้วยการแก้ปัญหาการทุจริต. ต่อจากนั้น ได้รับทราบรายงานกระทรวงการต่างประเทศ ( กต.) ถึงข้อคิดเห็นของ Seafood working Group ( SWG ) ผ่าน องค์กร Global Labor Justice – International Labor Rights Forum เกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งการป้องกัน การดำเนินคดีและการคุ้มครองเหยื่อที่ผ่านมา
พร้อมทั้งได้พิจารณาและเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ประจำปี 64 ที่เน้นให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะและการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันปราบปรามอาชญกรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน การป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว รวมทั้งเน้นการยกระดับการแก้ปัญหาให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล ในประเด็นการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ และการคุ้มครองผู้เสียหาย
ต่อจากนั้น ได้ประชุมติดตามผลการดำเนินงานทางวินัยและการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ปี 55 ถึงปัจจุบัน รวม 77 ราย และได้พิจารณาการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยให้เพิ่มช่องทางการรับแจ้งเหตุและให้สามารถดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไปพรางก่อน และร่วมกันกำหนดความหมายของ “การค้ามนุษย์” ให้ครอบคลุมถึงการนำพาบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ในทุกระดับถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา พร้อมได้ย้ำถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปโดยถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างจริงจังและมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น โดยต้องไม่ให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเป็นช่องว่างหรือข้อจำกัดของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับในทุกหน่วยงาน พร้อมทั้งย้ำให้เร่งรัดดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งทางวินัยและอาญาอย่างเร่งด่วน
รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้นำผลงานวิจัยและรายงานข้อคิดเห็นของ SWG ที่ตรงกับข้อเท็จจริงไปขับเคลื่อนแก้ปัญหา สำหรับประเด็นข้อเสนอที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ขอให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำข้อเท็จจริงเสนอ ข้อมูลผ่าน กต.เพื่อทำความเข้าใจกับองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าใจคลาดเคลื่อนภายใน 7 วัน พร้อมย้ำให้ พม.เข้าปกป้องและคุ้มครองเหยื่อจากการค้ามนุษย์ทันทีไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างประเทศ และขอให้ ตร.ทำงานร่วมกับ พม.ใกล้ชิด ให้ความสำคัญกับการระบุและแยกความแตกต่างระหว่างคดีบังคับใช้แรงงานกับคดีค้ามนุษย์ โดยให้สืบต้นตอความเชื่อมโยงการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำพาผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทุกกรณี และ ขอให้ กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญผลักดันให้นายจ้างลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในระบบโดยเร็ว พร้อมย้ำว่า ต้องไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือการทุจริตโดยเด็ดขาด