ครม. เห็นชอบเงินกู้ กฟผ. วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 ในการชะลอหรือตรึงค่า Ft เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน
เมื่อวันที่ 6กง.ย.65 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท โดยให้ กฟผ.สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตามสภาพคล่องและสภาวะตลาดเงินในขณะนั้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาระหนี้ โอกาสนี้ คณะรัฐมนตรียังรับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของ กฟผ. ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/ 2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ราคาพลังงานปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ กฟผ. ยังคงต้องรับภาระอัตราค่า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงงวดตั้งแต่เดือนกันยายน- ธันวาคม 65 (งวดปัจจุบัน) จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ผลักภาระเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ประกอบกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลอัตราค่าบริการพลังงานไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐได้มอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระอัตราค่า (Ft) ที่เพิ่มขึ้น ชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่งวดเดือนกันยายน- ธันวาคม 64 จนถึงงวดเดือนพฤษภาคม- สิงหาคม 2565 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท (ค่าประมาณการ ณ มีนาคม 2565) ที่จะเรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้เลื่อนออกไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. ว่า จะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมจะปีงบประมาณ 2566 เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 84,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม(Call Loan) ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินของภาครัฐ
ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 4 / 2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของ กฟผ. ซึ่งจะช่วยรับภาระค่า Ftที่เพิ่มขึ้นชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้น มาเรียกเก็บกับประชาชนระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และ 29 มีนาคม 2565 ด้วย