การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดการด้านขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวแสดงเจตนารมณ์ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดการด้านขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ว่า กนอ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงให้ความสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาแบบองค์รวมตามแนวทาง BCG เพื่อสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับตัวรับกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์รวมถึงการจัดการพลังงานและของเสียในภาคอุตสาหกรรม
“การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ GC ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมกันศึกษาและพัฒนาแนวทางการจัดการด้านขยะพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องการจัดการด้านขยะพลาสติกในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกวิธี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติกที่ได้จากโครงการ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และในเชิงธุรกิจ” นายวีริศ กล่าว
ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การจัดการด้านขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวทางการดำเนินงานที่ GC มุ่งมั่นและยึดเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี พ.ศ. 2573 และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2593 ที่ผ่านมา GC ได้พัฒนา “YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” เพื่อบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดแยกพลาสติกใช้แล้ว การจัดเก็บ การขนส่ง ไปจนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วไปรีไซเคิลสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติก ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปใช้ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สถานที่อื่นๆ และยังครอบคลุมถึงกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในด้าน CSR รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติก เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอีกด้วย