“บรรดาคุณหมอ” ดาหน้าอธิบายทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนโควิด-19 “หมอมนูญ” แนะให้ฉีดคนไทยและแรงงานต่างชาติ คนละ 1 โดสในปีนี้ ดีกว่าให้คนครึ่งค่อนประเทศรอถึงปีหน้า “หมอยง” ชี้ในภาวะฉุกเฉิน จึงมีการอนุมัติให้ใช้โดยคำนึงถึงผลได้ ประโยชน์ และอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ส่วน “หมอหนึ่ง” ไขข้อข้องใจทำไมประสิทธิภาพวัคซีนจึงต่างกัน ย้ำให้รอดู final report ที่จะรวมข้อมูลทั้งหมดจะดีกว่า
เมื่อวันที่ 13 ม.ค.64 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ มีชื่อเสียงมาจากการเป็นหัวหน้าคณะแพทย์ที่รักษาอาการของ “บิ๊ก D2B” หรือ นายอภิเชษฐ์ กิตติกรเจริญ นักร้องวัยรุ่นชื่อดังที่ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำที่คูน้ำข้างถนนเนื่องจากง่วงหลับใน ปีพ.ศ. 2546 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า…”หลายสิบประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดให้ประชาชนของตนเอง ปีนี้รับประกันได้เลยว่า วัคซีนมีไม่พอใช้ทั่วโลก ไทยสั่งวัคซีนโควิด-19 จากซิโนแวค ประเทศจีน 2 ล้านโดส เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ และวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกาอีก 26 ล้านโดสเริ่มเดือนพฤษภาคม เจรจาขอซื้อเพิ่มจากแอสตราเซเนกาอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดสสำหรับคนไทย 30 กว่าล้านคนปีนี้ เพราะต้องฉีดคนละ 2 โดส
ผมขอเสนอความเห็นว่า ประเทศไทยควรจะเร่งฉีดให้คนไทยและแรงงานต่างชาติคนละ 1 โดสปีนี้เลย ดีกว่าให้ประชาชนอีกครึ่งประเทศรอถึงปีหน้า เรามีวัคซีนเพียงพอให้ฉีด 2 โดสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง และ 1 โดสสำหรับคนที่เหลือ (ยังไม่รวมเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี และหญิงตั้งครรภ์ รอการศึกษาเพิ่มเติม)
ถ้าดูประสิทธิภาพของตัวอย่างวัคซีนไฟเซอร์ (ดูกราฟ) วัคซีนเริ่มลดการป่วยและเสียชีวิตเมี่อรับเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังวันที่ 14 ของการฉีดวัคซีนเข็มแรก ที่ต้องฉีด 2 โดสก็เพื่อให้วัคซีนมีฤทธิ์ป้องกันการป่วยเมี่อรับเชื้อระยะเวลานานขึ้น คนที่ได้รับวัคซีน 1 โดสปีนี้ ให้ฉีดซ้ำอีก 1 โดสเมื่อไหร่ที่สามารถสั่งวัคซีนเพิ่มปีหน้า ผมคิดว่าวิธีนี้อาจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีกว่าให้ 2 โดส 30 กว่าล้านคนปีนี้ และให้คนอีกครึ่งประเทศรอฉีดวัคซีนปีหน้า“
ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง “โควิด-19 วัคซีน” ระบุว่า…”โรคทุกโรคป้องกันได้ควรได้รับการป้องกัน ทำนองเดียวกันโควิด-19 ก็ควรได้รับการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือ หรือถูแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างของบุคคล นอกจากการปฏิบัติแล้ว ถ้ามีวัคซีนในการป้องกันควรได้รับการป้องกัน โควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็วและยากที่จะกวาดล้างให้หมดไป มาตรการในการควบคุมป้องกันการระบาด และสูญเสีย จึงจำเป็นที่จะต้องมีวัคซีนมาเสริมป้องกันและควบคุม จึงมีการเร่งพัฒนาผลิตวัคซีนในการป้องกันอย่างมากและรวดเร็ว
การพัฒนาเป็นไปตามขั้นตอน จากการทดลองในสัตว์ผ่านเข้าสู่อาสาสมัครในมนุษย์ ระยะที่ 1, 2 และ 3 ในระยะที่ 3 จะต้องใช้อาสาสมัครเป็นหลักหมื่นและทำการศึกษาอย่างละเอียด ในภาวะฉุกเฉิน จึงมีการยอมให้ขึ้นทะเบียนในภาะฉุกเฉินและภาวะปกติจะตามมาทีหลัง มีการรายงานผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในการให้ประชาชนหมู่มาก โดยทั่วไปจะติดตามต่อหลังใช้แล้วอีก 2 ปี การอนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉินจะมีการคำนึงถึงผลได้ ประโยชน์ และอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ขณะนี้วัคซีนในการป้องกันโควิด-19 แต่ละชนิดมีการใช้หลายล้านโดสโดยรวมได้ถูกไปใช้แล้วประมาณ 30 ล้านโดส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด กว่าประเทศไทยจะได้ใช้ ก็น่าจะมีการใช้ทั่วโลกไปแล้วโดยรวมเป็นร้อยล้านโดสแล้ว“
นพ.ยง ยังโพสต์ด้วยว่า “วัคซีนโควิด โรคทุกโรคที่ป้องกันได้ควรป้องกัน ในอดีตที่ผ่านมา จะมีกลุ่มที่ต่อต้านวัคซีน มีการบอกกล่าวและทำการวิจัยปลอม ว่าฉีดวัคซีน หัด หัดเยอรมัน คางทูม ในทารก แล้วทำให้เกิดออทิสติก มีการเผยแพร่ น่าเชื่อถือ และทำให้เด็กจำนวนมากเสียโอกาส ในการรับวัคซีน หัด ทำให้เสียชีวิตจากโรคหัดจำนวนมาก ต่อมาจึงมีการศึกษา พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ว่าวัคซีนดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคออทิสติก แต่อย่างใด
กว่าจะพิสูจน์ได้ แล้รู้ว่าการศึกษาวิจัยนั้นปลอมเกิดขึ้นจากกลุ่มต่อต้านวัคซีน ก็ใช้เวลาร่วม 10 ปี และมีเด็กเสียชีวิตจากโรคหัดที่ป้องกันได้จำนวนมาก การสูญเสียจากโรคโควิด กับอาการข้างเคียงของวัคซีนโควิด เป็นเหตุผลหนึ่งที่นำเอามาพิจารณาใช้อย่างฉุกเฉิน และหลังจากการที่ข้อมูลจำนวนมากแล้ว ก็จะอนุญาตให้ใช้หรือขึ้นทะเบียนในภาวะปกติต่อไป“
ขณะที่ นพ.สุทธิพงษ์ ตรีรัตน์ หรือ “หมอหนึ่ง” ศัลยแพทย์ชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Suthipong Treeratana ในหัวข้อ “#ประสิทธิภาพวัคซีนทำไมต่างกันเยอะจัง” ระบุว่า “บางครั้งขึ้นกับการ design ทดสอบด้วยครับ เพราะการทดสอบวัคซีนไม่ใช่การให้วัคซีนกับอาสาสมัครแล้วเอาเขาไปรับเชื้อไวรัสโดยตรงนะครับ แหม ผิดจริยธรรมตายเลย นักวิจัยติดคุกหัวโตแน่ๆ ฉีดวัคซีนแล้วเอาคนป่วยมาลองไอใส่หน้าอาสาสมัครเนี่ย แล้วเขาทำยังไง? มันยุ่งยากนิดหน่อยครับผม
เขาก็จะให้วัคซีนกับกลุ่มอาสาสมัคร 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับวัคซีนของจริง อีกกลุ่มได้รับยาหลอก (placebo) แล้วให้ทั้ง 2 กลุ่ม กลับไปใช้ชีวิตตามปกติในบริเวณที่มีการระบาด จากนั้นเราก็รอเวลา ..ติ๊ก ต๊อกๆ …ติดตามว่าแต่ละกลุ่มจะติดเชื้อต่างกันไหมน้าาา (โหดมะ) จากนั้นก็จะเปรียบเทียบอัตราส่วนของคนที่ติดเชื้อทั้ง 2 กลุ่ม ได้ค่าที่เรียกว่า risk factor ค่าที่ว่านี่ก็เอามาคำนวณ ประสิทธิภาพ (efficacy) อีกที เอาหล่ะ หากอ่านไปชักมึน สรุปว่าหากเจอว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนแทบไม่ติดเชื้อเลย กลุ่มได้ยาหลอกติดเชื้อเพียบ ก็จะคำนวณประสิทธิภาพได้สูง
ปัญหาคือ การทดลองแบบนี้ หากไปทำในประเทศที่มีคนติดเชื้อมาแล้วเยอะๆ อาสาสมัครก็มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติอยู่แล้วบ้าง แม้จะได้ยาหลอก เราอาจจะเห็นความแตกต่างของอัตราการติดเชื้อน้อยลงไปด้วย ก็จะคำนวณประสิทธิภาพได้น้อยลงเช่นกัน ไม่เกี่ยวกับการที่วัคซีนห่วยเสมอไป ทีนี้ไม่ต้องแตกตื่น ทำไม ทำไม ทำไม วัคซีน ก ห่วยกว่า วัคซีน ข ฯลฯ เรามารอดู final report ที่จะรวมข้อมูลทั้งหมดอีกทีดีกว่าครับ มัวตามอ่านข่าวมากๆ ช่วงนี้ จะมึนเอา #จะวัคซีนอะไรก็สู้ใส่แมสก์ล้างมือบ่อยๆไม่ได้นะจะบอกให้”