ปัญหารอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ ระหว่าง “ภูมิใจไทย VS ประชาธิปัตย์” จากผลพวงการขวางลำ ชิงเหลี่ยมการเมือง กลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ พ่วงด้วยเรื่องร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่เดิมที หากไม่มีการขวางลำเกิดขึ้น จะทำให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” และ “ภูมิใจไทย” เกือบได้สองเด้ง ในวันเดียวกันคือ 14 ก.ย. เพราะหากสุดท้าย วันดังกล่าวร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ หากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้จะไม่ทันในสมัยประชุมที่ผ่านมา เพราะสภาฯปิด 19 ก.ย. ยังต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาอีกสามวาระ แต่มันก็ทำให้ “ภูมิใจไทย” ได้หน้าเต็มๆ สองเรื่อง ทั้งเรื่องการผลักดันให้ ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ออกมาจากสภาฯ โดยมีสาระสำคัญคือ เงินกู้ยืมกยศ.ต่อจากนี้ “ไม่มีดอกเบี้ย” อันเป็นเรื่องที่ภูมิใจไทย เคยหาเสียงไว้ตั้งแต่ตอนเลือกตั้งปี 2562
รวมถึงหากร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ผ่านสภาฯมาได้ ถึงต่อให้ต้องไปรอวุฒิสภาพิจารณาอีก แต่การผ่านสภาฯมาแล้ว มันก็เป็นหลักประกันแล้วว่า ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ มีโอกาสจะถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายในอนาคตถึงร่วม 80 เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีการยุบสภาฯเสียก่อน
ดังนั้น พอภูมิใจไทย โดน “ขวางลำสกัด” จากพรรคร่วมรัฐบาล ที่นำโดยประชาธิปัตย์ ทำให้ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ถูกถอนออกจากระเบียบวาระการประชุมสภาฯ โดยมีส.ส.ประชาธิปัตย์ ไปร่วมโหวตเห็นด้วยให้ถอนร่างออกไป 30 เสียง ทำให้เมื่อรวมเสียงกับฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเพื่อไทย เลยทำให้เสียงส่วนใหญ่ออกมาให้มีการถอนร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ออกไปกลางคัน ชนิดภูมิใจไทย ตั้งตัวไม่ทัน เพราะรู้ล่วงหน้าก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง
แค่นั้นไม่พอ “ประชาธิปัตย์” ยังไฟเขียวให้ส.ส.ของพรรคนำโดยสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ออกมาเรียกร้องให้ “ภูมิใจไทย” และกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนท่าทีเรื่อง “กัญชาทางการแพทย์” ด้วยการเสนอให้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้ง หลังปลดล็อกมาก่อนหน้านี้
ซึ่งหากทำแบบนั้น “อนุทิน-ภูมิใจไทย” ก็เสียหน้า-เสียเครดิตทางการเมืองอย่างแรง เพราะเท่ากับเป็นการประจานว่า นโยบาย “กัญชาเสรี-กัญชาทางการแพทย์” ที่อนุทินและภูมิใจไทย ภูมิใจนำเสนอ ทำไม่ได้ มีปัญหา จนต้องยอมทบทวน
ของแบบนี้ มีหรือ “อนุทิน” รมว.สาธารณสุขและภูมิใจไทย จะยอมทำตามที่ประชาธิปัตย์เสนอ เพราะที่ผ่านมาเรื่องกัญชาฯ คือสิ่งที่อนุทินและภูมิใจไทย มั่นใจมากว่าคือผลงานที่ “พูดแล้วทำ” จนนำไปประกาศทุกเวทีว่านี้คือผลงานความสำเร็จของภูมิใจไทย
จึงไม่แปลกที่ “อนุทิน-ภูมิใจไทย” จะควันออกหู เดือดดาล ประชาธิปัตย์ยิ่งนัก ถึงขั้นทิ้งบอมบ์เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา
“ดีเสียอีกที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนกันเอง ใกล้เลือกตั้ง ไอ้ที่จะต้องเกรงใจอะไรกัน ก็ไม่ต้องเกรงใจ”
อันเป็นท่าทีของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ค่อยแสดงออกบ่อยนัก เมื่อเป็นแบบนี้ อาจมีผลต่อเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลระดับหนึ่ง แม้หลายฝ่ายเชื่อว่า คงไม่ถึงขั้น
“แตกหัก-ถอนยวงกัน” ระหว่าง ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย
ในลักษณะพรรคใดพรรคหนึ่งจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เว้นเสียแต่สถานการณ์บานปลาย เกินกว่าที่ “ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รักษาการนายกฯและผู้จัดการรัฐบาล จะเคลียร์ใจแกนนำสองพรรคได้
เหตุที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า สุดท้าย ทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจะกอดคอทำงานกันต่อไปในรัฐนาวาชุดนี้ ก็เพราะมองว่า ขณะนี้พอดี ได้จังหวะ “สภาฯปิด” กว่าจะเปิดอีกทีก็โน่นเลย 1 พ.ย.2565
เมื่อสภาฯปิด มันเลยทำให้การที่จะมีการกระทบกระทั่งกัน การชิงเหลี่ยม การหักกันทางการเมือง กลางห้องประชุมสภาฯ ผ่านการโหวตเรื่องต่างๆ มันเลยไม่มีเวที จุดนี้มันทำให้ “อุณหภูมิรอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาล” ลดความร้อนแรงลงไปได้ เพราะสุดท้าย คนยังเชื่อว่า แกนนำสองพรรค ทั้งอนุทินและศักดิ์สยาม จากภูมิใจไทยและจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ กับเฉลิมชัย ศรีอ่อน จากประชาธิปัตย์ น่าจะเคลียร์ใจกันได้ เพียงแต่ต้องหาจุดลงตัวในการคุยกัน
ซึ่งหนึ่งในวิธีที่อาจเป็นไปได้ก็คือ ต้องให้มีการทบทวนแก้ไขร่างพ.ร.บ.กัญชาฯในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ของสภาฯ ให้ออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ที่คัดค้านร่างดังกล่าวให้มากที่สุด
ซึ่งกมธ.สายภูมิใจไทย หากต้องการให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา อาจต้องยอมถอยบ้างในบางก้าว ยอมตัดหรือแก้ไข บางมาตรา ที่มีแรงต้านสูง แต่หากเคลียร์กันในชั้นกรรมาธิการไม่ได้ ฝ่ายภูมิใจไทยปักหลักไม่ยอมให้แตะ เปลี่ยนแปลงเนื้อหา ถ้าแบบนี้ อาจเป็นไปได้ ที่ถึงตอนสภาฯ เปิดแล้วมีการนำร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ เข้าสภาฯอีกรอบ อาจถึงขั้น “วงแตก” จนรัฐบาลมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพสั่นคลอนได้ หากทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ เลือกที่จะรักษาจุดยืนแนวทางของตัวเองไว้ โดยไม่มีใครยอมให้ใคร
เพียงแต่หลายคน ก็ยังไม่เชื่อว่าสุดท้าย เกาเหลารอบนี้ของสองพรรค ที่ระหองระแหงกันมานานแล้ว โดยเฉพาะหลัง “ภูมิใจไทย” รุกหนักในการจะเข้าไปแย่งชิงพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการทำพื้นที่หาเสียงอย่างหนักต้องการกวาดส.ส.เขตภาคใต้ให้ได้ถึง 20 คน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 8 เสียง เลยทำให้ “ประชาธิปัตย์” เจ้าถิ่นไม่พอใจมาก จึงไม่แปลกที่ประชาธิปัตย์พร้อมจะชนกับภูมิใจไทยตลอดเวลา
ส่วนเรื่องนี้ จะถึงขั้นบานปลาย จนทำให้รัฐบาลสั่นคลอนหรือไม่ หลายคนยังเชื่อว่า แกนนำภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ต่างรู้สภาพการเมืองดี ยังไงเสีย หากไม่เข้าตาจนจริงๆ ไม่อยากมีใคร ออกจากการเป็นพรรครัฐบาล ยิ่งหลังจากนี้อีกประมาณ 7 เดือนสภาฯก็ครบวาระ และต้องมีการเลือกตั้ง ยังไงการเป็นพรรครัฐบาล แกนนำพรรคเป็นรัฐมนตรีคุมอำนาจรัฐ มีกลไกรัฐอยู่ในมือในช่วงเลือกตั้ง มันก็ย่อมได้เปรียบมากกว่าการเป็นพรรคการเมืองธรรมดาหรือฝ่ายค้าน แวดวงการเมืองเลยยังเชื่อว่า ถ้าไม่แตกหักกันจริงๆ คงยากที่แกนนำภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ จะทิ้งหม้อข้าวตัวเอง ออกจากการเป็นรัฐบาล กลายเป็นพรรคการเมืองขาลอย
กระนั้น ศึกเกาเหลา “ภูมิใจไทย VS ประชาธิปัตย์” หากปล่อยไว้แบบนี้ โดยคนจากสองพรรค ออกมาทิ่มหมัดใส่กันไปมาคนละทีสองที ย่อมไม่ดีแน่ เผลอๆ อาจบานปลายเกินกว่าที่คิด หาก “บิ๊กป้อม” ไม่รีบลงมาเคลียร์ใจคนทั้งสองพรรค ซึ่งดูแล้ว แกนนำทั้งสองพรรคพร้อมจะเคลียร์ใจกัน แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาฯ เรื่องของส.ส.ในพรรค ว่ากันเอาเอง หลังสภาฯเปิด 1 พ.ย.
เพียงแต่เดิมพันนี้ อย่างที่เห็น “ภูมิใจไทย” มีเดิมพันสูงกว่ามาก เพราะหากร่างกฎหมายกัญชา เข็นออกมาไม่ได้ มันก็ทำให้การผลักดันเรื่อง “กัญชาทางการแพทย์” ยังอาจมีช่องโหว่อยู่ และจะทำให้เกิดผลกระทบกับพรรคตอนหาเสียงเลือกตั้ง ที่สุดท้าย “พูดแล้วทำไม่ได้”
เลยต้องดูว่า “เสี่ยหนู-อนุทิน” และภูมิใจไทย จะเอาอย่างไร ต่อไปหลังจากนี้ หากประชาธิปัตย์ ยังขวางลำ เป็นหนามทิ่มแทงใจการเมือง แบบนี้ไปเรื่อยๆ
…………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”