“เผ่าภูมิ”ยก4 ประเด็นโต้”รมว.คลัง”คนละครึ่งตัวคูณการคลังต่ำ ไม่ใช่คำตอบระยะยาว ชี้การเปรียบเทียบโดยใช้มิติตัวเลข GDP อย่างเดียวนั้น นำไปสู่ข้อสรุปที่คลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง
วันที่ 19 ก.ย.65 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่า มาตรการคนละครึ่งเป็นผลงานของรัฐบาล ว่า มีความเห็นแย้งกับ รมว.คลังใน 4 ประเด็น ดังนี้
1.คนละครึ่ง ไม่ได้ดีต่อเศรษฐกิจมากเท่าที่กล่าวอ้าง คนละครึ่งทั้ง 4 เฟสที่ผ่านมา มีค่าตัวคูณทางการคลังเฉลี่ยที่ 1.5 ตัวเลขนี้ชี้ชัดว่า คนละครึ่งนั้น “ด้อยกว่า” มาตรการด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งมีตัวคูณฯที่ 1.95 ด้อยกว่ามาตรการประกันสินเชื่อ ซึ่งมีตัวคูณฯที่ 2.1 ด้อยกว่าแม้กระทั่งค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ หรือการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งมีตัวคูณฯที่ 1.87 ดังนั้น หากจะสรุปว่าคนละครึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เป็นการสรุปที่คาดเคลื่อน และไม่ตั้งอยู่บนฐานของตัวเลข
2.คนละครึ่ง เฟส 5 ไม่จำเป็นอีกต่อไปในปัจจุบัน คนละครึ่งใช้ได้ในช่วงที่ต้องการประคองกำลังซื้อในช่วงคนกังวลและลังเลที่จะใช้จ่าย แต่ปัจจุบันได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว การใช้คนละครึ่งในช่วงที่การบริโภคฟื้นตัวแล้วเป็นการไปกระตุ้นและทดแทนกำลังซื้อที่เกิดขึ้นอยู่แล้วแม้ไม่มาตรการ นั่นคืองบประมาณในส่วนนี้จะไปลงกับคนที่ไม่ได้เดือดร้อนจริง ควรนำเงินส่วนนี้ไปใช้กระตุ้นตลาดแรงงานมากกว่า เช่น มาตรการกระตุ้นการจ้างงาน แก้ไขเรื่องแรงงานคืนถิ่น-แรงงานไหลกลับสู่ภาคการเกษตร ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งตรงกับสถานการณ์และเป็นประโยชน์กว่า
3.คนละครึ่ง ไม่เคยใช่คำตอบในระยะยาวในการพัฒนาประเทศ มาตรการในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ประโยชน์ในการสร้างศักยภาพและผลิตภาพให้กับประเทศในระยะยาวแทบจะเท่ากับศูนย์ และคนละครึ่งใช้เงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ทั้งสองฉบับ ฉะนั้น มาตรการแบบนี้ไม่ได้สร้างอะไรทิ้งไว้ให้กับประเทศในระยะยาวเลย เว้นแต่หนี้สาธารณะ
4.การเปรียบเทียบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจโดยใช้ตัวเลข GDP แล้วอนุมานว่าวิกฤตโควิดนี้ไม่รุนแรงเท่าวิกฤตในอดีต ไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้อง ในอดีตที่ GDP ติดลบหนักๆ เกิดจากวิกฤตกระทบตรงไปที่สถาบันการเงินและกลุ่มทุนใหญ่ เป็นวิกฤตที่ “แคบ ลงลึก แต่ฟื้นเร็ว” GDP หดตัวแรง แต่ไม่กระทบประชาชนในวงกว้าง แต่วิกฤตโควิดนี้เป็นวิกฤตที่ “กว้าง ฝังลึก ฟื้นช้า เกิดแผลเป็น” สถาบันการเงินไม่กระทบ แต่ชนชั้นกลางลงไปเดือดร้อนแสนสาหัส ตลาดแรงงานเสียหายถึงชั้นโครงสร้าง ภาคบริการทั้งระบบพังลง ฉะนั้นการเปรียบเทียบโดยใช้มิติตัวเลข GDP อย่างเดียวนั้น นำไปสู่ข้อสรุปที่คลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง