นักเศรษฐศาสตร์ ธปท. มองว่าเศรษฐกิจปี 64 ถือว่าเข้าสู่ยกที่ 2 สู้ด้วยความหวัง และคาดว่าสภาพเศรษฐกิจจะกลับมาสมบูรณ์เท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เศรษฐกิจคงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
นายวศิน โรจยารุณ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจว่า ทบทวนเศรษฐกิจปีชวด : เริ่มยกที่ 1 ถูกจู่โจมไม่ทันตั้งตัว เพราะปีชวด 2563 ที่ผ่านไป ต้องถือว่าเป็นปีที่ชวดอีกปีจากวิกฤติโรคโควิด 19 ที่โลกไม่เคยพบเจอมาก่อน หากเปรียบเทียบปี 2563 เป็นการต่อสู้ในยกแรกระหว่างเศรษฐกิจกับโควิด 19 ก็ต้องถือว่าเราผ่านยกแรกมาได้อย่างหืดจับ และยืนประคองตัวอยู่ได้ด้วยยากระตุ้นหลายขนาน ทั้งมาตรการการคลังและการเงินที่มีมูลค่าสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน
โดยสรุปแล้ว ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวที่ร้อยละ -6.6 ซึ่งหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นผลจากยากระตุ้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี โลกเริ่มสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ และเริ่มทดลองฉีดให้กับประชากรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงต้องนับว่าเรารอดผ่านยกที่ 1 ไปได้แบบมีคะแนนติดปลายนวม
นายวศิน กล่าวต่อว่า ปีวัว : เข้าสู่ยกที่ 2 สู้ด้วยความหวัง โดยในช่วงท้ายปี ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การต่อสู้ในยกที่ 2 เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ หลายประเทศแทนที่จะได้ Countdown กลับต้องเปลี่ยนมา Lockdown แทน อย่างไรก็ตาม มาตรการ Lockdown ในยกนี้ยังถือว่ารุนแรงน้อยกว่ายกแรกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
สำหรับเศรษฐกิจไทย ก่อนเข้าสู่ยกที่ 2 เราลองมาตรวจเช็คความพร้อมของสภาพร่างกายเศรษฐกิจไทยก่อนลงสนามดูจะพบว่า ในภาพรวมปี 2564 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2 แต่ยังถือว่าสมรรถนะทางร่างกายโดยรวมฟื้นกลับมาได้เพียงครึ่งเดียว และกว่าที่สภาพร่างกายจะกลับมาสมบูรณ์เท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และหากเปรียบเทียบกับนักมวยชาติอื่นแล้ว ถือว่าไทยฟื้นตัวช้ากว่า เนื่องจากสภาพร่างกายเดิมของเศรษฐกิจไทยก่อนจะเกิดโรคระบาดก็ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมานาน จนส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงโดยเฉพาะการส่งออกสินค้า นอกจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังกระจุกอยู่ในภาคที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าโดยเปรียบเทียบโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
การส่งออกบริการหรือภาคการท่องเที่ยว เปรียบเสมือนปลายคางที่โดนโควิด 19 ต่อยแบบ Uppercut เพราะมีขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 11 ของ GDP และไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยในปีที่ผ่านมา ไทยควบคุมการระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ส่วนหนึ่งจากการใช้ ยาแรง ด้วยการใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยหดตัวสูงในปีที่ผ่านมา และฟื้นตัวล่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในระยะถัดไป
การค้นพบ วัคซีน ช่วงปลายปี 2563 เป็นความหวังสำคัญสำหรับภาคการท่องเที่ยว และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 ทั้งนี้ แผนการกระจายวัคซีนในไทย คาดว่าจะเริ่มฉีดให้กับประชากรได้ประมาณ 20% ในช่วงครึ่งปีหลังของปี ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเปิดประเทศและอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวไทยได้โดยไม่มีการกักตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
หันมาที่การส่งออกสินค้า ในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวได้ แม้หลายประเทศจะใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 แต่คาดว่าผลกระทบจะจำกัดกว่ารอบแรก ประกอบกับบรรยากาศสงครามการค้าโลกน่าจะมีแนวโน้มคลี่คลายลงจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดี คนใหม่ของสหรัฐฯ และเป็นแรงเกื้อหนุนสำคัญให้กับภาคการส่งออกสินค้าของไทย อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวได้ในระดับปานกลางโดยไม่สูงเท่ากับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
เนื่องจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยในสัดส่วนที่สูงเป็นสินค้าที่ฟื้นตัวช้า เช่น ยานยนต์และเครื่องจักรและอุปกรณ์ และมีสัดส่วนสินค้าที่ฟื้นตัวเร็วค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตอบโจทย์คนทั่วโลกที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ นอกจากนี้ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทยก็ช้ากว่าคู่แข่ง จนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานก่อนหน้านี้แล้ว
การใช้จ่ายและมาตรการภาครัฐ จะยังคงเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยการใช้จ่ายภาครัฐที่ผ่านมาถือว่ายังคงออมแรงอยู่บ้าง กล่าวคือภาครัฐยังมีเม็ดเงินพร้อมจะกระตุ้นเศรษฐกิจเหลืออยู่มาก จากการออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประกอบกับระดับหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับต่างประเทศ จึงยังมีความสามารถในการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม
ในด้านการใช้จ่ายภาคเอกชน ปีที่ผ่านมาแม้รายได้ครัวเรือนหดตัวสูง แต่มาตรการจากภาครัฐมีส่วนสำคัญที่ช่วยประคับประคองไม่ให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูง อาทิ โครงการเราไม่ทิ้งกัน การเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน สำหรับในปี 2564 คาดว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนจะทยอยฟื้นตัว แต่อาจอ่อนกำลังลงบ้างในช่วงครึ่งแรกของปีจากผลกระทบของโควิด 19 ระลอกใหม่ รวมทั้งรายได้ครัวเรือนโดยรวมยังอ่อนแอ สะท้อนจากชั่วโมงการทำงานนอกเวลาที่ยังต่ำ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวสูงขึ้นมาก จากนั้นคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวเร็วขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการฟื้นตัวของรายรับภาคการท่องเที่ยว
แม้เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในเส้นทาง การฟื้นตัว แต่หนทางข้างหน้ายังคงมี ความไม่แน่นอน สูงมากตามพัฒนาการการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากเกิดการระบาดในวงกว้างจนนำมาสู่การใช้มาตรการที่เข้มงวดสูง นโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวในปี 2564 ยังขึ้นอยู่กับประสิทธิผลและความรวดเร็วในการจัดหาและกระจายวัคซีน เพราะแม้เราจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้ แต่ไวรัสก็ต่อสู้ด้วยการกลายพันธุ์เช่นกัน
จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาคธุรกิจในการบริหารจัดการ ความเสี่ยง รวมถึงผู้วางนโยบายทุกด้านซึ่งเป็นเสมือนพี่เลี้ยงนักมวย ที่ต้องร่วมมือกันสอดประสานมาตรการเพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องท่ามกลางความเสี่ยงในระยะข้างหน้า และป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยเพลี่ยงพล้ำจนต้องกลับมาต่อสู้กับโควิด 19 อีกครั้งในยกที่ 3
ข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย