1 ต.ค. นี้ “สบส.” ยุบหมด สถานพยาบาลชั่วคราวโควิดที่ยังคงค้าง รักษาต่อจบคอร์ส
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 65 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ช่วงโควิด 19 เรามีการอนุญาตเปิดสถานพยาบาลชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล เพื่อแบ่งเบาภาระการครองเตียงใน รพ. ซึ่งมีทั้งระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation)/ที่ชุมชน (Community Isolation) ฮอสปิเทล และ Hotel Isolation ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีการปิดสถานพยาบาลชั่วคราว แต่ทาง รพ.เอกชนขอเปิดต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ดูเหมือนเพิ่มขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระเตียง รพ.
อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มองว่าสถานพยาบาลชั่วคราวก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการต่อ เนื่องจากคนไข้ก็น้อยลง พบว่า คนไข้ใหม่วันหนึ่งเป็นหลักร้อยถึงหลักพันและกระจายไปทั่วประเทศ ไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ใบอนุญาตสถานพยาบาลชั่วคราวสำหรับโควิดก็จะหมดอายุลงในเดือน ก.ย.นี้
“หลังจากใบอนุญาตหมดอายุก็คงไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาตสถานพยาบาลชั่วคราวอีก ยกเว้นถ้ายังมีคนไข้อยู่ก็ให้ดำเนินการจนหมดคนไข้ แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรุนแรงมากขึ้นกว่านี้ หากจะเปิดสถานพยาบาลชั่วคราวก็จะต้องมาขออนุญาตและออกประกาศใหม่ ซึ่งกลไกพวกนี้หากมีความจำเป็นทางคณะกรรมการสถานพยาบาลก็จะพิจารณา” นพ.ธเรศกล่าว
นพ.ธเรศกล่าวว่า การดูแลรักษาโรคโควิด 19 พอเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ก็จะคล้ายโรคไข้หวัด เราก็ปรับมาให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เข้มมาตรการ DMHT 5 วัน โดยใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และสามารถทำงานได้ การต้องไปทำ รพ.แยกก็ไม่มีความจำเป็น ส่วนเมื่อมีอาการมากขึ้นหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรง แพทย์ก็จะพิจารณารับเป็นผู้ป่วยในตามปกติ สำหรับการใช้สิทธิยูเซปพลัสโควิดนั้น ก็มีการปรับเกณฑ์ใหม่ โดยคณะกรรมการสถานพยาบาลเสนอว่า เมื่อปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเกณฑ์ก็จะเป็นผู้ป่วยอาการสีแดง เช่น ความดันตก มีอาการเหมือนคนจะช็อก ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกับภาวะติดเชื้ออื่นๆ เพราะเป็นโรคติดเชื้อหนึ่ง แต่เพิ่มหลักเกณฑ์ให้รักษาจนหายจะได้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไม่ต้องวุ่นวายในการหาเตียง ต่างจากยูเซปปกติที่รักษาครบ 72 ชั่วโมงแล้วต้องย้ายกลับ รพ.ตามสิทธิ ซึ่งตอนนี้คนไข้สีเหลืองและสีแดงก็ลดลง