“กรมธนารักษ์-บริษัทวงษ์สยาม” เซ็นสัญญาโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี รัฐรับผลตอบแทน 30 ปี รวม 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นเตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบทรัพย์สิน
เมื่อวันที่ 23 ก.ย.65 65 ภายหลังการลงนามสัญญาบริหารโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประมูล นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้นวานนี้ (22 กันยายน 2565) จึงไม่มีเหตุผลใดที่กรมธนารักษ์จะชะลอการลงนาม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อรัฐแบบรายวัน โดยลงนามครั้งนี้ ทำให้กรมฯ ได้รับเงินค่าแรกเข้าทันที 580 ล้านบาท เงินชำระผลประโยชน์ตอบแทนรายปีปีที่ 1 จำนวน 44,644,356 บาท และหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา 118,979,500 บาท ซึ่งรวม 30 ปี รัฐจะได้ผลตอบแทนทั้งสิ้นรวม 2.5 หมื่นล้านบาท
“กรมฯมีการเตรียมการเรื่องลงนามสัญญามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 65 ดังนั้นการลงนามวันนี้กรมฯไม่ต้องเตรียมเอกสารใดๆเพิ่มเติม จึงสามารถนัดลงนามสัญญาได้ทันทีก็เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับรัฐแบบรายวัน ดังนั้นขณะนี้จึงถือว่าวงษ์สยามเป็นคู่สัญญากับกรมฯแล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าดำเนินการได้จนกว่าจะมีการส่งมอบทรัพย์สินแล้วเสร็จ”นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะมีการลงพื้นที่ร่วมกับ “วงษ์สยาม” เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินว่า ตรงตามที่คณะกรรมการของกรมธนารักษ์ได้สำรวจรายละเอียดไว้หรือไม่ ก่อนจะมีการส่งมอบทรัพย์สินให้กับวงษ์สยาม เป็นผู้บริการโครงการท่อส่งน้ำฯ โดยในช่วงแรกจะส่งมอบท่อส่งน้ำ 2 เส้น คือ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบังระยะที่ 2 ไม่มีการทำสัญญาบริหารโครงการ แต่ได้มอบหมายให้บริษัทอีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้บริหารโครงการชั่วคราว
ทั้งนี้จะส่งมอบได้เร็วแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของ “วงษ์สยาม” ในการเชื่อมระบบท่อส่งน้ำไปยังผู้ใช้น้ำ ขณะที่โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ซึ่งปัจจุบัน บริษัท อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้บริหารโครงการ จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยวงษ์สยามจะเริ่มเข้าบริหารได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป รวมสัญญาทั้งหมด 30 ปี
นายประภาศ กล่าวอีกว่า ในส่วนของคดีฟ้องร้องหลัก ที่ “อีสท์วอเตอร์ฯ” ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ ในประเด็นการยกเลิกผลการประมูลครั้งที่ 1 มิชอบ และผลการคัดเลือกการประมูลครั้งที่ 2 มิชอบนั้น หากกรณีศาลปกครองสูงสุดตัดสินเห็นตามคำร้อง จะมีผลทำให้สัญญาที่กรมธนารักษ์ ลงนามร่วมกับ “วงษ์สยามฯ” ในวันนี้ก็เป็นโมฆะทันที โดยวงษ์สยามฯจะไม่สามารถฟ้อง และเรียกค่าเสียหายกับกรมฯ รวมทั้งขอคืนเงินที่ชำระมาแล้วได้ ซึ่งมีการระบุอย่างชัดเจนในสัญญาแล้วฃ
นายประภาศ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องพิจารณาผลการประมูลในครั้งที่ 1 ร่วมใหม่ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการตัดสินว่าบริษัทใดเป็นผู้ชนะ เนื่องจากเกิดประเด็นในเรื่องของตัวเลขศักยภาพท่อส่งน้ำที่ระบุไม่ชัดเจน ทำให้ตัวเลขเกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นเหตุผลที่ทำให้กรมฯ ต้องยกเลิกผลการประมูลครั้งที่ 1 แต่อย่างไรก็ตามจากผลตอบแทนตลอดระยะเวลา 30 ที่รัฐจะได้รับจากการประมูลในครั้งที่ 1 นั้น จะอยู่ที่หลักพันล้านบาทเท่านั้น ขณะที่การประมูลครั้งที่ 2 รัฐจะได้รับผลตอบแทนอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท
นายประภาศ กล่าวว่า ส่วนกรมฯ จะมีการฟ้องกลับผู้ร้อง ที่ทำให้การเซ็นสัญญาเกิดความล่าช้าหรือไม่นั้น ยังต้องไปพิจารณาในรายละเอียดของการร้อง ว่ามีเจตนาประวิงเวลาหรือไม่ เพราะบริษัทที่เข้าร่วมประมูลจะมีสิทธิในการฟ้องร้องหรือยื่นอุทธรณ์ผลการประมูลได้ หากพบความไม่เป็นธรรม ซึ่งกรมฯธนารักษ์จะต้องมีการปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุดก่อน
ด้านนายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมในการสร้างระบบท่อเพื่อเชื่อมต่อการส่งน้ำไปยังผู้ใช้น้ำแล้ว ซึ่งสามารถเข้าดำเนินการได้ทันทีเมื่อสามารถเข้าพื้นที่ได้ รวมทั้งไปมีการประสานไปยังผู้ใช้น้ำเรียบร้อยแล้ว
นายอนุฤทธิ์ กล่าววว่า ขณะที่ราคาน้ำที่วงษ์สยามฯ จะคิดกับการประปาส่วนภูมิภาคนั้น จะอยู่ที่ 9.50 บาทต่อคิวบ์ จากปัจจุบันที่ 9.90 บาทต่อคิวบ์ ขณะที่ค่าน้ำในภาคอุตสาหกรรม วงษ์สยามฯ จะคิดไม่เกิน 12.40 บาทต่อคิวบ์ จากปัจจุบันที่ 11-26 บาทต่อคิวบ์ ทั้งนี้ วงษ์สยามฯ จะคิดค่าน้ำในอัตราดังกล่าวตลอดระยะเวลาอายุสัญญา 30 ปี