โฆษกรัฐบาลเผย แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบฯ 2566 รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.65 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 65 มีมติอนุมัติ เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า แผนดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน โดยแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย
- แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท ได้แก่
(1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 819,765.19 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของรัฐบาล ส่วนที่เหลือเป็นการให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง
(2) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ วงเงิน 233,020.28 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในสาขาคมนาคม (รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) สาขาพลังงาน (ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน) สาขาสาธารณูปโภค (ปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาต่าง ๆ) สาขาที่อยู่อาศัย (พัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง) - แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 1,589,973.34 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 145,989.59 ล้านบาท เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้การบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม
- แผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท เป็นแผนการชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ
นายอนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 มีมติเห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 และนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐสามารถดำเนินการตามแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 ได้ทันตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณากรอบการจัดทำแผนฯ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นวงกว้าง โดยแผนฯ ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่กล่าวมา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพคล่องของตลาดการเงินภายในประเทศเพื่อรองรับการกู้เงินตามแผนฯ ในปีงบประมาณ 2566 และขอย้ำว่าการจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ พ.ศ. 2561 โดยภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการคลังคาดว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 60.43 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังที่ร้อยละ 70
“รัฐบาลบริหารด้านการเงินการคลังอย่างมีระบบ ระเบียบ โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้ง ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ไปจนถึงสถานการณ์โลก ประกอบกับจุดอ่อน จุดแข็ง ศักยภาพของประเทศเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ควรสนับสนุนเพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาให้เท่าทันบริบทของโลก เป็นไปตามแผนการพัฒนาชาติ ซึ่งต้องเป็นไปตามความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม” นายอนุชา กล่าว