เงินบาทเปิดตลาด 37.40 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรอบ 1 สัปดาห์ คลายกังวลเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หลังยอดตำแหน่งงานเปิดรับลดลงกว่า 1.1 ล้านตำแหน่ง สะท้อนแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ตึงตัวน้อยลง ขณะที่ราคาทองคำพุ่ง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ที่ระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น” ในรอบ 1 สัปดาห์ จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังยอดตำแหน่งงานเปิดรับสหรัฐฯ ลดลงกว่า 1.1 ล้านตำแหน่ง สะท้อนแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ตึงตัวน้อยลง สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่กดดันเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ คือ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นและแข็งค่ามากกว่าแนวรับที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า
ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันนี้ ออกมาแย่กว่าคาดต่อเนื่อง ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง กดดันให้เงินดอลลาร์ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ และหนุนให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรือ แกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 37.30-37.40 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวถือว่าเป็นโซนแนวรับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างก็รอจังหวะทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนักมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.25-37.50 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อย่างต่อเนื่อง หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยล่าสุด ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ได้ปรับตัวลดลงกว่า 1.1 ล้านตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาด สะท้อนแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ตึงตัวน้อยลง
ซึ่งตลาดจะรอประเมินภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานที่สำคัญในวันศุกร์นี้ โดย หากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดไปมาก ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งคาดว่า เฟดอาจไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
ทั้งนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ยังคงหนุนให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง นำโดย Amazon +4.5%, Microsoft +3.6%, Tesla +2.9% ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นต่อเนื่อง +3.3% เช่นเดียวกันกับดัชนี S&P500 ที่ปิดตลาด +3.06%
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +3.9%, Exxon Mobil +3.6%) ตามราคาน้ำมันดิบก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่หนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดคาดว่า กลุ่ม OPEC+ อาจลดกำลังการผลิตลงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พุ่งขึ้นกว่า +3.12% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Adyen +7.1%, ASML +6.2% จากความหวังว่าบรรดาธนาคารกลางอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ Dior +6.6%, Hermes +6.1% จากความหวังว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกอาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก หากบรรดาธนาคารกลางชะลอการขึ้นดอกเบี้ย
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มคาดหวังว่า เฟดรวมถึงบรรดาธนาคารกลางอื่นๆ อาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง แต่บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ก็ยังช่วยพยุงให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.63% (สูงกว่าจุดสูงสุดในช่วงกลางปีแถว 3.50% ไม่มากนัก)
ทั้งนี้มองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจไม่รีบเพิ่มสถานะการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จนกว่าจะเห็นสัญญาณการกลับตัวของทิศทางนโยบายการเงินเฟดที่ชัดเจน ซึ่งอาจต้องเกิดจากแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงชัดเจนและภาพตลาดแรงงานที่แย่ลงมากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีลักษณะ Sideways และเสี่ยงที่จะปรับตัวขึ้นอีกครั้ง หากข้อมูลเศรษฐกิจไม่ได้แย่อย่างที่คาด โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอจังวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นอีกครั้งในการทยอยเพิ่มสถานะการถือครอง (Buy on Dip) ท่ามกลางมุมมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอาจชะลอตัวลงมากขึ้นและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
ขณะที่ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 110.2 จุด หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) สู่ระดับ 1.145 ดอลลาร์ต่อปอนด์ และการรีบาวด์ขึ้นของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 0.998 ดอลลาร์ต่อยูโร
สำหรับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟด รวมถึงธนาคารกลางอื่นๆ อาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน สู่ระดับ 1,734 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า อาจมีแรงขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรดังกล่าวก็มีส่วนที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
ส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (ISM Services PMI) เดือนกันยายน โดยตลาดประเมินว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ระดับ 56 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) หนุนโดยภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ตลาดจะรอจับตารายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจเป็นบอกแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้ โดยตลาดคาดว่า ยอดการจ้างงานภาคเอกชน อาจเพิ่มขึ้นราว 2 แสนราย สะท้อนภาวะการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง
ส่วนไทยเราประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนกันยายนจะยังคงอยู่ในระดับสูงราว 7.2% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าและบริการตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงค่าไฟฟ้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมากในเดือนกันยายน
อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งอาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้กังวลปัญหาเงินเฟ้อมากเท่ากับธนาคารกลางอื่นๆ และทำให้ ธปท. ยังสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ +0.25% ได้และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม OPEC+ ว่าจะมีมติลดกำลังการผลิตลงมากน้อยขนาดไหน โดยราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวขึ้นต่อได้ หาก OPEC+ มีมติลดกำลังการผลิตมากกว่าคาด หรือ ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน