“ปลอดประสพ” ตอบให้แล้วระบุแม่น้ำชี แม่น้ำมูลท่วมผิดปกติ เพราะฝ่ายราชการและฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่ขาดประสิทธิภาพ 3 ข้อ พร้อมแนะแนวทางแก้ไข
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นายปลอดประสพ สุรัสวดี แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็น เรื่อง แม่น้ำชี แม่น้ำมูลท่วมผิดปกติเพราะอะไร ระบุว่า
เมื่อวานมีสัมมนาที่พรรคเพื่อไทยเรื่องน้ำท่วมมากอย่างผิดสังเกตในลุ่มน้ำชีมูล ทีวีและนสพ.ได้เสนอข่าวไปแล้วจึงนึกถึง FB ว่าน่าจะได้มีโอกาสพิจารณาบ้าง จึงได้นำบทสนทนาดังกล่าวมาโพสต์
เริ่มแรกได้สังเกตพบว่า ทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายการเมืองได้ปฏิบัติหน้าที่ขาดประสิทธิภาพ 3 ข้อดังนี้
1. การแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมน้ำหลากไม่ชัดเจนแม่นยำ สำหรับการเตือนเรื่องพายุของกรมอุตุนิยมวิทยา ถือว่าใช้ได้
2. การอพยพ การหาแหล่งพักพิงชั่วคราว การช่วยเหลือเรื่องอาหาร การให้บริการการเดินทางของราษฎรตลอดจนการรักษาโรคระบาดที่มากับน้ำไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่พอเพียง
3. ผิดพลาดในการเลือกยุทธวิธีการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤตน้ำท่วม ที่เลือกใช้ Flood Control (การควบคุมการระบายน้ำ) ซึ่งจริงๆแล้วทำไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องมือหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ในลุ่มน้ำชีมูล ในสภาวะเช่นนี้ต้องเลือกใช้ Flood Mitigation แทน คือเลือกการบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วม จึงจะถูกต้อง
ดูเหมือนว่า พวกท่านจะอับจนในการหาหนทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ของประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเสียแล้ว เพราะแม้แต่เช้านี้ผู้แทนราษฏร จังหวัดอ่างทองซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลแท้ๆ ยังอดไม่ได้ที่จะออกมาตำหนิรัฐบาลว่า บริหารผิดพลาดจนทำให้จังหวัดอ่างทองท่วมไปแล้วทุกอำเภอ
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของประเทศในส่วนรวม ผมได้คุยกับเพื่อนๆ นักวิชาการแล้วจึงขอให้คำแนะนำรัฐบาลพอสังเขป ดังนี้
1. ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารน้ำท่วมแบบบรรเทาผลกระทบ (Flood Mitigation ) ควบคู่ไปกับการควบคุมการระบายน้ำ (Flood Control)
2. ปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการให้เป็นแบบยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลง (Resillent Approach) โดยต้องยึดแนวการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (Nature Base Solution) โดยเฉพาะในสภาวะโลกร้อน
3. ทบทวนผังเมืองให้เหมาะสมกับสภาวะน้ำมากและหลากแรง
4. ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างทุกประเภทให้มั่นคงแข็งแรงและสามารถยืนหยัดในสภาวะน้ำท่วมสูงและรุนแรง
5. กรณีที่จำเป็น ต้องสร้างเขื่อน (Polder)เพื่อปกป้องชุมชนและเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่นเดียวกับที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ใช้อยู่
6. สร้างฝายทดน้ำ (Diversion Dams) ในพื้นที่ที่มีตลิ่งสูงเพียงพอและเหมาะสม เพื่อควบคุมและชะลอการไหลของน้ำ
7. สร้างพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิงขนาดใหญ่) ในพื้นที่ราบตำ่ใกล้แม่น้ำ เช่น พื้นที่ป่าบงป่าทาม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ หรือหนองหาน จ.สกลนคร เป็นต้น
การไปให้กำลังใจราษฎรแม้ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมและมารยาทที่ดีก็ตาม แต่ประชาชนเขาบอกว่า เขาไม่ต้องการกำลังใจแล้ว เขาอยากรู้ว่า วันนี้จะอยู่รอดได้อย่างไร และก็อยากรู้เช่นกันว่า ในอนาคตเขาและลูกหลานจะอยู่กันแบบไหน ทุกปีจะต้องหนีน้ำหัวซุกหัวซุนอย่างนี้ตลอดไปหรือ