วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSไทยปูทางสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในเวทีเอเปค
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไทยปูทางสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในเวทีเอเปค

ไทยเสนอเอเปคออกแถลงการณ์รับรองแผนงาน 4 ปี ปูทางสู่การทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคระหว่างวันที่ 17–19 พ.ย.2565 ซึ่งในส่วนของประเด็นเศรษฐกิจสำคัญที่ไทยจะผลักดัน คือ การนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อนเอเปคสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบแผนงานระยะ 4 ปี ระหว่างปี 2566–2569 ที่จะดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การจัดทำ FTAAP และเป็นหนึ่งในแถลงการณ์ที่จะประกาศในการประชุมครั้งนี้

สำหรับรายละเอียดในแผนงาน FTAAP ประกอบด้วยการรวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปกมีความสนใจร่วมกัน ทั้งด้านการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการเกิดวิกฤต ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิกเอเปก เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการจัดทำ FTAAP และมุ่งสู่เป้าหมายผลลัพธ์สำคัญของ FTAAP เช่น การขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปก และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

“แนวคิดการทำ FTAAP เกิดมา 10 กว่าปีแล้ว ถ้า 21 เขตเศรษฐกิจเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็จะคุยกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการทำตามแผนงาน 4 ปี และในระหว่างที่ดำเนินการ สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขกิจกรรมได้ตลอดเวลา หากมีประเด็นสำคัญที่เห็นควรที่จะต้องเพิ่มเข้าไป และเมื่อครบ 4 ปีแล้ว สมาชิกก็จะมาตกลงกันว่าจะไปต่อยังไง จะไปสู่ FTAAP แบบไหน เพื่อให้การทำ FTAAP สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม” 

ทั้งนี้ แนวคิดการจัดทำ FTAAP เกิดจากข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) ต่อผู้นำเอเปก เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่การผลักดัน FTAAP ยังไม่คืบหน้ามากนัก ซึ่งการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกของไทยในปีนี้ เป็นช่วงที่สมาชิกเอเปกเผชิญกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อเปิดเสรี ลดอุปสรรคการค้าการลงทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อและอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ

โดยการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกกับ ABAC ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานที่ประชุมจึงเห็นพ้องว่าเขตเศรษฐกิจเอเปกจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

สำหรับเอเปก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มี GDP รวมกัน มูลค่า 52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 62% หรือ 2 ใน 3 ของ GDP โลก และการจัดทำ FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปกและไทย เนื่องจากไทยยังไม่มี FTA กับสมาชิกเอเปก อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย และเม็กซิโก 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่า 12.2 ล้านล้านบาท (385 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็น 71.52% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 6.1 ล้านล้านบาท (195 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 6 ล้านล้านบาท (190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

นอกจากนี้ในช่วง 9 เดือน ของปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 10.7 ล้านล้านบาท (314 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 10.65% โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 5.2 ล้านล้านบาท (155 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปค 5.4 ล้านล้านบาท (158 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img