คืนวันลอยกระทง ตั้งแต่พลบค่ำถึงเกือบ 3 ทุ่ม จะเกิด 2 ปรากฏการณ์ “จันทรุปราคา ราหูอมจันทร์” พร้อมกันทั่วไทย ภาคอีสานเห็นชัดที่สุด นอกจากนี้ยังเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวยูเรนัส”
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า ในช่วงเวลาหัวค่ำของวันอังคารที่ 8 พ.ย. 65 ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 คืนวันลอยกระทง จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง หรือราหูอมจันทร์ ตามความเชื่อของคนไทย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ทั้งดวงผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก นอกจากนี้ ยังเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสในเวลาเดียวกันอีกด้วย
การสังเกตจากประเทศไทย จันทรุปราคาเริ่มขึ้นก่อนที่ดวงจันทร์จะโผล่เหนือขอบฟ้า และดวงอาทิตย์ยังไม่ตก เราจึงไม่สามารถเห็นในช่วงเริ่มปรากฏการณ์ได้ เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าในทิศตรงกันข้าม เราอาจต้องรอให้ดวงจันทร์เคลื่อนสูงขึ้นและท้องฟ้ามืดลงอีกเล็กน้อย จึงเริ่มสังเกตเห็นดวงจันทร์ได้ ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง หากขอบฟ้าทิศตะวันออกไม่มีสิ่งใดบดบัง เราอาจเห็นดวงจันทร์ได้ลางๆ เนื่องจากขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ไม่ได้มืดมิดไปทั้งหมด แสงอาทิตย์ที่หักเหและกระเจิงผ่านบรรยากาศโลก ทำให้ผิวดวงจันทร์ไม่มืดสนิท
เมื่อเวลาผ่านไป ดวงจันทร์และดาวต่าง ๆ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกจะค่อย ๆ เคลื่อนสูงขึ้นตามการหมุนของโลก พร้อมกับที่ดวงจันทร์เคลื่อนออกจากเงาโลก ดวงจันทร์อยู่ใกล้ศูนย์กลางเงาโลกมากที่สุดในเวลา 17.59 น. ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก ภาคใต้ตอนล่างเห็นดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากที่สุด และอาจมีโอกาสเห็นได้ยากที่สุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นดวงจันทร์อยู่สูงที่สุด และท้องฟ้ายังสว่างอยู่ด้วยแสงสนธยา
จันทรุปราคาเต็มดวงจะสิ้นสุดลงในเวลา 18.42 น. เป็นจังหวะที่เริ่มมีแสงสว่างขึ้นที่ขอบดวงจันทร์ และท้องฟ้ามืดลงพอสมควรแล้ว จากนั้นดวงจันทร์จะออกจากเงามืดทั้งดวง หรือสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 19.49 น. แม้ว่าดวงจันทร์จะกลับมาสว่างเต็มดวงแล้ว แต่ปรากฏการณ์ยังไม่สิ้นสุดเสียทีเดียว ผิวดวงจันทร์ยังคงหมองคล้ำอยู่เล็กน้อยต่อไปอีกราว 1 ชั่วโมง จนกระทั่งดวงจันทร์ออกจากเงามัวในเวลา 20.56 น.
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา
- ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก เวลา 15.02.15 น.
- เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 16.09.12 น.
- เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 17.16.39 น.
- ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด เวลา 17.59.10 น.
- สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 18.41.39 น.
- สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน เวลา 19.49.05 น.
- ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก เวลา 20.56.11 น.
เวลาสัมผัสเงาในแต่ละขั้นตอนของจันทรุปราคาเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ตำแหน่งดวงจันทร์ที่มองเห็นจากแต่ละสถานที่ไม่เหมือนกัน จากตารางพอจะกล่าวได้ว่า หากไม่คำนึงถึงสภาพอากาศหรือปริมาณเมฆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ซึ่งสังเกตจันทรุปราคาครั้งนี้ได้ดีกว่าภาคอื่นๆ
นอกจากจันทรุปราคาแล้ว ยังเกิดปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือดวงจันทร์บังดาวยูเรนัส ตอนเริ่มบัง ไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากท้องฟ้าสว่าง ดวงจันทร์เพิ่งขึ้นหรือยังไม่ขึ้นเหนือขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก ช่วงสิ้นสุดการบัง พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีโอกาสสังเกตดาวยูเรนัสโผล่ออกมาจากหลังดวงจันทร์ โดยปรากฏที่ขอบด้านขวามือของดวงจันทร์เมื่อเทียบกับทิศทางของจุดเหนือศีรษะ แต่ดวงจันทร์ยังอยู่สูงเหนือขอบฟ้าไม่มาก และดาวยูเรนัสไม่ค่อยสว่างนัก จึงยากจะเห็นด้วยตาเปล่า ควรใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ เป็นโอกาสดีสำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพร้อมกับดาวยูเรนัส
เวลาสิ้นสุดการบังดาวยูเรนัสแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ กรุงเทพฯ เกิดขึ้นเวลา 18.32 น. ขอนแก่น 18.37 น. เชียงใหม่ 18.43 น. นครราชสีมา 18.34 น. นครศรีธรรมราช 18.17 น. ประจวบคีรีขันธ์ 18.28 น. ระยอง 18.29 น. สงขลา 18.10 น. อุบลราชธานี 18.33 น. (หมายเหตุ : เชียงใหม่เกิดในเวลาหลังสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง จึงเห็นขอบด้านซ้ายมือของดวงจันทร์สว่างขึ้นแล้ว แม้ว่าภาคใต้ตอนบนจะอยู่ในบริเวณที่เห็นขณะสิ้นสุดการบัง แต่สังเกตได้ค่อนข้างยากเนื่องจากขณะที่ดาวยูเรนัสโผล่ออกมาอยู่ที่ขอบดวงจันทร์ ท้องฟ้าอาจยังไม่มืดพอ ส่วนภาคใต้ตอนล่างสุดไม่สามารถสังเกตการบังได้ แต่ยังคงมีโอกาสสังเกตเห็นดาวยูเรนัสอยู่ใกล้ดวงจันทร์ระหว่างที่เกิดจันทรุปราคา)
การที่ดวงจันทร์เข้าบังดาวเคราะห์ขณะเกิดจันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย พบเห็นได้ยากมากสำหรับดาวเคราะห์สว่างอย่างดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ (พบได้บ่อยกว่าสำหรับดาวเคราะห์ที่ไม่สว่างอย่างดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน) ส่วนดาวพุธกับดาวศุกร์ไม่มีโอกาสถูกดวงจันทร์บังขณะเกิดจันทรุปราคา สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะดาวเคราะห์สว่างเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งเร็วกว่ายูเรนัสและเนปจูน จากการคำนวณในเบื้องต้นพบว่าหลังจากปีนี้ ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ขณะเกิดจันทรุปราคาครั้งถัดไปจะเกิดในวันที่ 11 พ.ย. ค.ศ. 2106 เป็นจันทรุปราคาบางส่วน และดาวเคราะห์ที่ถูกบังก็คือดาวยูเรนัสอีกเช่นเดียวกัน
หลังจากปีนี้ ประเทศไทยสามารถสังเกตจันทรุปราคาบางส่วนได้ในเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค. 66 และจะมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้อีกในคืนวันอาทิตย์ที่ 7 ก.ย. 68 และหัวค่ำของวันอังคารที่ 3 มี.ค. 69