วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“บิ๊กตู่”ต้อนรับประชุมเอเปค ย้ำความร่วมมือเป็นหัวใจสำคัญนำชาติพ้นวิกฤต
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บิ๊กตู่”ต้อนรับประชุมเอเปค ย้ำความร่วมมือเป็นหัวใจสำคัญนำชาติพ้นวิกฤต

นายกฯโชว์รอยยิ้มสยามต้อนรับประชุมเอเปค ขอคนไทยมีความรักสามัคคีสร้างสันติสุขในประเทศ ย้ำความร่วมมือเป็นหัวใจสำคัญนำพาประเทศชาติพ้นวิกฤต

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 พ.ย.65 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน APEC University Leaders’ Forum : “Preventing the Next Pandemic (AULF) ภายใต้หัวข้อการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้มีความสุขที่ได้เห็นเวทีคู่ขนานการประชุมเอเปค ซึ่งวันนี้มีแขกเดินทางมาประเทศไทยแล้วจำนวนมากพอสมควร ต้องขอบคุณผู้ที่ให้เกียรติมาประเทศไทยและขอบคุณคนไทยที่เป็นเจ้าภาพที่ดีด้วย ซึ่งความร่วมมือทุกภาคส่วนเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันจากความท้าทายต่างๆ อีกทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้ต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ เรามุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือ ภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด–19 โดยในส่วนของเรื่องOpen เน้นการผลักดันให้เอเปคนำเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก มาหารือใหม่ เพื่อให้เอเปคสามารถรับมือกับความท้าทายและใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองเอกสาร “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานในเอเปค และวางบรรทัดฐานใหม่ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับการประชุมในครั้งนี้ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยเพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเชื่อมั่นว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้วางนโยบาย และผู้นำธุรกิจจะได้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทางและแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้คือการทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผล เป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าความถูกต้องของข้อมูลและการเผยแพร่ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการบริหารสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน ต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการ ซึ่งการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอมที่แพร่กระจายและเป็นภัยอยู่ในสังคม ยกตัวอย่างเช่นในช่วงต้นของการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ที่ประชาชนบางส่วนมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลค้างเคียงของวัคซีนจากข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ถูกต้อง แต่ในภายหลัง ความหวาดกลัวได้คลายลงเมื่อข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้เริ่มปรากฏออกมามากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้อย่างน่าพอใจ


“ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่องการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเดือนเม.ย.2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ ตนได้ทบทวนบทเรียนจากการรับมือสภาวะฉุกเฉินในการระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริม การพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมเชิงวิชาการในวันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยการศึกษาและการวิจัยร่วมกันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

“เราเป็นโลกใบเดียวกันต้องรัก สมามัคคีเผื่อแผ่กัน วันนี้สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องการสันติสุขในประเทศไทย เราต้องรักกัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดทุกเรื่องทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและด้านอื่นๆ ขอต้อนรับทุกคนในนามนายกฯ และคนไทย รอยยอ้มสยาม สยามเมืองยิ้ม”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ก่อนเดินทางกลับ พล.อ.ประยุทธ์ ทักทายสื่อมวลชนด้วยรอยยิ้ม ว่า “ฝากด้วยนะจ๊ะ” ก่อนจะพูดคุยกับประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิกและอธิการบดีมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลีส ซึ่งประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวว่า “ I Like Your smile” ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับถอดแมสก์ พร้อมยิ้มหวานให้อีกครั้งก่อนกล่าวขอบคุณ “Thank you” และส่งสัญลักษณ์ ไอเลิฟยูก่อนเดินทางกลับ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img