วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจาก“ปั่นหุ้น”ถึง“ปล้นโบรกฯ”... วงจรอุบาทว์หุ้นไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จาก“ปั่นหุ้น”ถึง“ปล้นโบรกฯ”… วงจรอุบาทว์หุ้นไทย

ปรากฏการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนในวงการตลาดหุ้นบ้านเรากลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นกรณีของ หุ้น MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ที่ราคาหุ้นมีการส่งคำสั่งซื้อขายช่วงก่อนตลาดเปิด (ATO) เมื่อวันพฤหัสที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยปริมาณหุ้นจำนวนมหาศาลกว่า 1,500 ล้านหุ้น ที่ราคาเปิด 2.90 บาท ก่อนจะมีแรงขายเข้ามาอย่างหนักต่อเนื่อง หลังเปิดตลาดได้ไม่นานจนราคา ดิ่งติดฟลอร์ ที่ราคา 1.95 บาท ด้วยปริมาณการซื้อขายกว่า 7 พันล้านบาท นับว่าเยอะมากๆ

มิหนำซ้ำในวันศุกร์ที่ 11 พ.ย. ราคาหุ้น MORE ยังคงถูกเทตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดตลาด (ATO) ลงมาฟลอร์ที่ราคา 1.37 บาท ขาดทุนติดหุ้นกันถ้วนหน้า นักวิเคราะห์หลายคนในตลาดหุ้นเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ปฏิบัติการปล้นโบรกฯ” เป็นการปล้นกลางวันแสกๆ กลางเมืองใหญ่โดยโจรใส่สูทชนิดที่ไม่มีใครรู้ตัว

กระทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องสั่งหยุดพักการซื้อขายอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และส่อแววว่า อาจจะถูกแขวนต่อไปอีกนาน เนื่องจากยังพบพิรุธต่าง ๆ ตามมามากมาย เป้าหมายในการปล้นครั้งนี้เจตนาพุ่งเป้าตรงไปที่ “โบรกเกอร์” หรือที่เรียกว่า “บริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์” แบบเน้นๆ และไม่ใช่แค่รายเดียว แต่มากถึง 20 ราย

อันที่จริงความน่าสงสัยในพฤติกรรมน่าจะมีมานาน โดยที่มา-ที่ไปก่อนที่จะเป็น MORE เดิมชื่อว่า บมจ.ดีเอ็นเอ 2002 หรือ DNA เปลี่ยนมามาเป็น MORE ในเดือนพ.ย.2561 พร้อมกับรื้อโครงสร้างธุรกิจ จากเดิมที่เป็นผู้จัดจำหน่าย DVD กลายเป็นธุรกิจบริหารจัดการน้ำ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงาน โครงสร้างผู้ถือใหญ่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจาก DNA มาเป็น MORE ตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงกลางปี 2563 ส่งผลให้ราคาหุ้น MORE พุ่งกระฉูดต่อเนื่อง จนมาแตะจุดสูงสุดที่ 2.98 บาท เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของหุ้น MORE พุ่งขึ้นจากราว 2 พันล้านบาท ไปสู่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท ราวปาฏิหาริย์ด้วยเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น

ส่วนที่มีการปั่นวงเงินมาร์จิ้นขึ้นไปสูงระดับหลายพันล้านครั้งนี้ แต่ละโบรกฯมียอดตั้งแต่ระดับใกล้ ๆ 100 ล้านบาท ไปจนถึงกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการชำระค่าหุ้นกันในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งก็เริ่มมีสัญญาณแล้วว่างานนี้มีรายการ “เบี้ยวค่าหุ้น” แน่ๆ นั่นแปลว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นโบรกเกอร์ที่เป็นตัวกลางต้องรับผิดชอบอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ข้อที่น่าสังเกต ทำไมมีคนคิดจะขายหุ้นกับคนจะซื้อ จำนวนตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายตั้งคำถามว่า นี่เป็นการแอบฮั้วกันตุ๋น หวังหลอกเอาเงินโบรกเกอร์หรือไม่ ฟันธงว่า กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน คนเหล่าน่าจะต้องศึกษาทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี เห็นกฎกติกามี “ช่องโหว่” อยู่ตรงไหน และรู้พฤติกรรมโบรกเกอร์ที่เป็นคนกลาง “กินค่าคอมฯ” นั้น มีความโลภเป็นทุนเดิมทำให้แผนต่างๆ ง่ายขึ้น

หากย้อนดูประวัติศาสตร์จะรู้ว่า คนที่แอบเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในตลาดหลักทรัพย์นั้นมาตลอด 47 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง ซึ่งตอนนั้นคดีอื้อฉาวมักจะเป็นเรื่อง “ปั่นหุ้น” หรือ “สร้างราคาหุ้น” ที่มีมาตลอดจนถึงวันนี้จะสร้างความเสียหายให้นักลงทุนนับหมื่นนับแสนๆ ราย แต่ก็ไม่มีใครเข็ด กลายเป็นวงจรอุบาทว์กระทั่งทุกวันนี้

ที่สำคัญ “ความอยากได้ค่านายหน้าซื้อขายหุ้น” ของโบรกเกอร์ “ความโลภ” ของนักลงทุนที่ต้องการรวยลัดและรวยเร็ว กลายเป็น “ช่องโหว่” ให้ “แก๊งปั่นหุ้น” ใช้อุบายล่อแมลงเม่าบินเข้ากองไฟอย่างง่ายดาย แบบไม่จบไม่สิ้น โดยที่หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหลายได้แต่มองตาปริบๆ

“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” กูรูนักลงทุนวีไอ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE ในภาพใหญ่ถือเป็นการสะท้อนจุดอ่อนของตลาดทุนไทยที่เต็มไปด้วย “หุ้นปั่น” ซึ่งในระดับโครงสร้างอาจจะเอื้ออำนวยให้มีการเก็งกำไรหรือปั่นราคาหุ้นได้ง่าย ๆ และไม่มีทางแก้ ดังนั้นต้องปรับโครงสร้างตรงนี้ใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำได้

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เนื่องจากตัวบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและฟรีโฟลตต่ำ รวมไปถึงไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นเข้าไปป้องกัน จึงเกิดช่องว่างที่นักเล่นหุ้นรายใหญ่เห็นว่าทำง่าย โอกาสโดนจับแทบจะไม่มี พอใครทำได้ก็เกิดการเลียนแบบและขยายตัว ซึ่งปัจจุบันก็มีหุ้นลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท เพียงแต่เคส MORE เป็นเคสพิเศษด้วยวิธีการใหม่

“ปัจจุบันมาตรการกำกับการซื้อขายที่ทำอยู่ถือว่าใช้ไม่ได้ ไม่มีผล เพราะทำไปแล้ว ก็ป้องกันหุ้นที่ถูก Corner ไม่ได้ แม้แต่มาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 1 วันก็ตาม คำถามคือว่า หน่วยงานที่ดูแลได้มีการทบทวนหรือไม่ โดยในหลักการคือ หากไม่ได้ผล ต้องหาทางแก้ใหม่ เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายใหญ่สามารถทำ Corner หุ้นได้ นอกจากนี้งานนี้โบรกฯก็ต้องอุดช่องโหว่ตัวเองด้วย”

ทั้งหมดนี้ หากจะเรียกความเชื่อมั่น หน่วยงานกำกับก็คงต้องลงดาบผู้กระทำผิดให้สังคมได้เห็น รวมถึงปรับมาตรการรับมือต่าง ๆ ให้ทันเกมมากขึ้นโดยเร็ว

บทเรียนครั้งนี้บรรดาโบรกเกอร์ทั้งหลายได้เรียนรู้ว่า อย่าเห็นแก่ได้แบบไม่ลืมหูลืมตา หน่วยงานกำกับดูแลต้องปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลให้เข้มข้นและทันการณ์ เพื่อปิดช่องป้องกันการเข้ามาหาประโยชน์ อย่างพวกหุ้นปั่น หรือพวกที่คิดจะเข้ามาปล้น

…………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img