ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ตีตกข้อกล่าวหา ‘ยิ่งลักษณ์-ครม.’ อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมือง ปี 48-53 ชี้ทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตีตกข้อกล่าวหาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวก รวม 36 ราย กรณีถูกกล่าวหาว่า จ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตน ตาม พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 66 และตามประมวลกฎหมายอาญา โดยที่ประชุคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันดังกล่าว มีกรรมการ 6 ราย โดยมี 2 ราย ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ผลการพิจารณามีรายละเอียดดังนี้
ADVERTISEMENT
(1) ประเด็นที่ 1 การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า เมื่อปรากฏว่า การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548-2553 ไม่มีกฎหมายรองรับให้จ่าย การจ่ายเงินแผ่นดินดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(2) ส่วนประเด็นที่ 2 เมื่อการจ่ายเงินเยียวยาฯ ไม่มีกฎหมายรองรับให้จ่าย ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่นั้น เห็นว่า กรณีของ นายสุชาติ ธาดาธํารงเวช รมว.ศึกษาธิการ นางนลินี ทวีสิน รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี นายวิรุฬ เตชะ รมช.คลัง ไม่ได้อยู่ร่วมในการประชุม ครม. ในการลงมติ ประกอบกับมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมายให้นํานโยบายเกี่ยวกับการเยียวยาฯ ไปปฏิบัติให้บรรลุผล บุคคลทั้ง 3 จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ว่า ได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป
(3) ส่วนการกระทําของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เหลืออีกรวม 30 ราย ที่ประชุมพิจารณามีมติเป็นเอกฉันท์ว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 30 ราย จะได้ร่วมลงมติในวันดังกล่าว แต่ก็เป็นการทําหน้าที่ในฐานะองค์กรบริหารหรือ ครม. ซึ่งเป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป
(4) ส่วนการกระทําของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ที่ประชุมเสียงข้างมาก จํานวน 5 เสียง เห็นว่า การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2558-2553 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ ครม. ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 ว่าจะเยียวยาและฟื้นฟูแก่บุคคล ทุกฝ่ายซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่าง สอดรับกับความเห็นของคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เสนอให้ใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติด อยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบของกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานและองค์กรที่ดําเนินการในกรณีปกติ
ฉะนั้น การกระทําของนายยงยุทธ ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้เสนอหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ด้านการเงินต่อคณะรัฐมนตรี และการกระทําของนายกิตติรัตน์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสํานักงบประมาณและกระทรวงการคลัง จึงเป็นการกระทําอันเป็นผลโดยตรงมาจากนโยบายที่ ครม. ได้แถลงไว้ ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องทางรัฐประศาสโนบาย หรือเป็นการกระทําในทางการเมือง ซึ่งอยู่ในอํานาจของ ครม. ที่จะกระทําได้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายจึงมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ
ประกอบกับการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ชุมนุม ทางการเมืองฯ มิได้จ่ายให้แก่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะจึงมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ชุมนุมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการจ่ายเงิน เพื่อเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมโดยเสมอภาคทั่วหน้ากัน กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูล ตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป
(5) สุดท้าย การกระทําของ นายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และในฐานะประธานคณะทํางานช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า นายปกรณ์เป็นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานว่าในการทําหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตอบแทน หรือกระทําโดยมี เจตนาทุจริตหรือเจตนาทําให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ฉะนั้น กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 36 ราย ประกอบด้วย 1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 2. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) 3. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ 4. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง 5. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ 6. นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯ และรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 7. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 8. นางนลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
10.พ.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม 11. นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง 12. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง 13. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ 14. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 15. นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ 16. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ 17. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม 18. พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม 19. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม
20.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม21. น.อ.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 22. นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน 23. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ 24. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ 25. นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย 26. นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย 7. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม 28. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน 29. นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม 30 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 31. นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ 32. นายศักดา คงเพชร รมช.ศึกษาธิการ 33. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข 34. นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข 35. ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม และ 36. นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ