วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS"อภิสิทธิ์" โชว์ฟอร์มยกรธน.ไม่ให้อำนาจฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก.คุมเลือกตั้ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“อภิสิทธิ์” โชว์ฟอร์มยกรธน.ไม่ให้อำนาจฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก.คุมเลือกตั้ง

สภาฯ จัดเสวนา “กติกาเลือกตั้งใหม่ ใครได้ประโยชน์” “อภิสิทธิ์” โชว์ฟอร์มยกรธน.ไม่ให้อำนาจฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก.คุมเลือกตั้ง ฟาดรธน.60 จงใจทำพรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก ด้าน “เจษฎ์” รากเหง้าปัญหามาจากคสช.-ผู้สนับสนุน แถมมีส.ว. 250 คนในมือใครจะกล้าแข่ง ขณะที่ “สมชัย” โจทย์ใหญ่อยู่ที่กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งชี้ได้ว่าใครชนะเลือกตั้ง

วันที่ 29 พ.ย.65 ที่รัฐสภา สำนักเลขาธิการสภาฯร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาดดนาวร์ ประเทศไทย จัดโครงการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถาบันนิติบัญญัติ เสวนาหัวข้อเรื่อง “กติกาเลือกตั้งใหม่ ใครได้ประโยชน์” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตโฆษกกมธ.ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และนายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ร่วมเสวนา โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไกลเกินไปที่จะบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดตรงไหน เชื่อว่าอาจจะให้บางมาตราที่ไม่ได้ใช้ทิ้งไว้เช่นนั้น ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่หากอยากจะเปลี่ยนมาเป็นอย่างที่ต้องการคือส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และหารด้วย 100 ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญและทำกฎหมายลูกให้เสร็จให้ทัน ถ้ากฎหมายลูกเสร็จไม่ทันก็ต้องมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้

“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่บอกว่าถ้าทำกฎหมายไม่ทันก็ออกพระราชกำหนด เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารออกพ.ร.ก.มาแทนกฎหมายประกอบรัฐธรรมธรรมนูญ แต่ให้อำนาจออก พ.ร.ก.มาแทนพ.ร.บ.เท่านั้น ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ มีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือเราไม่ได้มีการกลับมาถกเถียงกันตั้งแต่เริ่มต้นว่าเราต้องการระบบเลือกตั้งแบบใด เพราะอะไร ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เราก็ยังมีมรดกที่ตกค้างคือมาตรา 272 ที่ให้ส.ว.250 คนสามารถเลือกนายกฯ ได้อยู่ ซึ่งการทำรัฐธรรมนูญปี 60 ขึ้นมาเขาจงใจให้พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีพรรคไหนมีโอกาสได้เสียงข้างมาก แต่ข้อดีของรัฐธรรมนูญแบบเก่าคือ เป็นระบบที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด แต่บังเอิญว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีการใช้สูตรคำนวณส.ส.แบบพิสดารมาก ที่ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนไม่กี่หมื่นคะแนนสามารถมีส.ส.ได้ ในขณะที่พรรคการเมืองที่เหลือเศษอีกเป็นแสนคะแนนไม่สามารถมีส.ส.เพิ่มได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่าตนไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับพรรคนั้นหรือพรรค สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือเราเลือกตั้งไปทำไม เราเลือกบ้างเพื่อที่จะให้ประชาชนกำหนดทิศทางของประเทศได้ แต่ถ้าระบบเลือกตั้งสับสนแบบนี้เลือกไปแล้วเจตนารมณ์ของประชาชนคืออะไร อยากให้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนและประเทศชาติได้อะไรจากการเลือกตั้ง

ด้านนายเจษฎ์ กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัด จะตีตกแบบไหน ตีตกเฉพาะรายมาตรา หรือตีตกทั้งฉบับ แต่หากจะตีตกทั้งฉบับ เมื่อจะไปทำใหม่ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายลูก ถ้าดูรากเหง้าของปัญหา คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้สนับสนุน คสช. เพราะระบบจัดสรรปันส่วนผสม กรธ. คิดโดยปรับมาจากระบบสัดส่วนผสมของเยอรมัน ที่มาจากร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เดิม แต่ท่านมาคิดเพิ่มว่าจะทำอย่างไรดีให้มันสะท้อนความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด และอยากให้พรรคเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาแข่งได้หมด ไม่อยากให้คะแนนเสียงตกน้ำ ซึ่งวิธีการคำนวณคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบเป็นอย่างดี เพราะนั่งร่วมกันร่างอยู่ ก็ได้มีการอภิปรายกันว่าอยากจะให้พรรคเล็กเข้าได้ด้วย แต่กกต.ที่นั่งอยู่ในห้องไม่อธิบายว่าการคำนวณจะเป็นแบบนี้ ปัญหาที่สองคือ กรรมการร่างรัธรรมนูญไม่ยอมเขียนเรื่องนำส.ว.มาเลือก ถ้ายอมเขียนจะอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก ไม่ต้องทำคำถามเพิ่มเติม ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนว่าในวาระแรก ศาลรัฐธรรมนูญไปบอกว่าในวาระแรกหมายความตลอด 5 ปี จะเลือกกี่ครั้งก็เลือกไป แต่ในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนในวาระแรกแปลว่า ได้ครั้งเดียว และปัญหาที่สามคือคสช.มาตั้งพรรค ซึ่งตามธรรมเนียมระบบรัฐสภา พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดลำดับแรก มีสิทธิ์ลำดับก่อนในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีการจัดแข่ง พรรคพลังประชารัฐไปจัดแข่งกับเขา เลยเกิดปัญหาว่าไปเขียนคำถามเพิ่มเติมให้ส.ว. มาเลือกนายกฯ ใครจะจัดแข่งกับท่านได้ ท่านเล่นเอา ส.ว.250 คน ซึ่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นคนเดียวที่คนในโลกนี้รู้ว่าเป็นคนเลือก นอกนั้นคนอื่นอยู่ไหน ไม่รู้ว่าใครได้ประโยชน์ แต่ตนรู้ว่าใครก่อปัญหา ก็ต้องรอดูต่อไป

ขณะที่ นายสมชัย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเหมือนการตัดสิน พ.ร.ป. พรรคการเมือง คือเป็นไปได้ทั้งผ่านและไม่ผ่าน หากผ่านก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างสบายใจ แต่สิ่งที่หลายคนคาดการณ์ไว้คือพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้เปรียบจากการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นจริง แต่หากไม่ผ่านเนื่องจากรัฐธรรมนูญมีการขัดกัน การที่จะเขียนให้ไม่ขัดกันมาตราที่เกี่ยวข้องต้องแก้ทั้งหมด 6 มาตราเป็นอย่างน้อย สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับกกต. ว่าจะแบ่งเขตอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเพราะถือว่าเป็นการชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะชนะเลือกตั้ง ถ้าไม่ผ่านกกต.จะอ้างว่าไม่มีกฎหมายที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง กกต.อาจจะออกคำสั่งประกาศ ซึ่งมีโอกาสที่จะขัดรัฐธรรมนูญ และมีโอกาสที่จะถูกฟ้องว่าทำผิดรัฐธรรมนูญเหตุให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะในภายหลัง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img