สธ.เผยพบผู้ติดโควิด 19 ราย ใน 3 เหตุการณ์ปาร์ตี้วันเกิดเจมะตูม-ผู้ประกาศข่าว NBT และปาร์ตี้อื่นๆ เชื่อมโยงคลัสเตอร์โควิดระบาดผับดังเมืองเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ว่า สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ในไทยตั้งแต่ 15 ธ.ค.2563 เป็นต้นมา อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.14 ถือว่าค่อนข้างต่ำ แต่เราไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย ขณะนี้ สถานการณ์ในประเทศในตอนแรกดูเหมือนค่อยๆ ลดลง แต่ระยะหลังก็เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามทั้งหมดยังเป็นผู้ป่วยในพื้นที่แถบภาคกลาง ล่าสุดวันที่ 24 ม.ค. มีเพียง 7 จังหวัดที่ยังมีผู้ป่วยใหม่ มากสุดคือที่ สมุทรสาคร
นอกจากนี้ยังมี กทม. ปริมณฑล ระยอง และบางจังหวัดในภาคกลาง ดังนั้นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อไปโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องควบคุมค้นหาผู้ป่วยเข้ามาในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ลดความเสี่ยงการจัดกิจกรรมให้ได้มากที่สุด และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ในหลายจังหวัดที่จะครบกำหนด ห้ามเคลื่อนย้าย ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 ก.พ. นั้น ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง แต่บางพื้นที่ที่ไม่มีมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่แล้ว อาจจะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบางอย่างได้ เช่น การเปิดเรียน
นพ.โอภาส กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อโควิด 19 ที่เกี่ยวข้องกรณีดีเจมะตูม หรือเตชินท์ พลอยเพชร ซึ่งเจ้าตัวแจ้งไทม์ไลน์เร็ว ทำให้สอบสวนโรคได้เร็วเริ่ม ทั้งนี้จากการสอบสวนโรคเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้พบว่าเริ่มต้นด้วยสถานบันเทิงที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีชายท่านหนึ่งไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งนี้ จากนั้นก็ทราบว่าตอนจัดงานไม่ได้เว้นระยะห่าง ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย และมีผู้ที่ติดเชื้อที่สถานบันเทิงแห่งนั้นจำนวนมาก จากนั้นชายคนดังกล่าวติดเชื้อแต่ไม่มีอาการและมาร่วมงานวันเกิดของดีเจมะตูม ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องไปร่วมงานจำนวนมาก และเกิดการแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้น ส่วนผู้ประกาศข่าว NBT จากการสอบสวนประวัติเบื้องต้นก็พบว่าไปร่วมงานปาร์ตี้นี้เช่นเดียวกัน จากนั้นก็ไปงานเลี้ยงอีกงานหนึ่ง
นพ.โอภาส กล่าวว่า รวมทั้งหมดจะเป็น 3 กลุ่ม แต่เชื่อมโยงกันด้วยงานเลี้ยง มีผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวโยงกัน 19 คน ดังนั้นจะสังเกตว่าจุดที่มีความเสี่ยงคือสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก คนที่มาร่วมกิจกรรมไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย แน่นอนว่าเวลารับประทานอาหารหรืออยู่ในงานเลี้ยง โดยเฉพาะงานเลี้ยงวันเกิดบางครั้งจะมีการเป่าเค้กวันเกิด มีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางครั้งมีการสูบบุหรี่ในพื้นที่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราทราบหลายครั้งว่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อไปได้ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ไปร่วมงานไม่มีอาการ พอไม่มีอาการก็จะคิดว่าไม่เป็นอะไร
“นี่ก็เป็นบทเรียนสอนเราเช่นเดียวกันว่าความเสี่ยงนั้นเกิดจากการไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์กันถึงแม้จะเป็นหมู่คนรู้จักกันก็ตาม ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ก็ควรจะระมัดระวังงานอย่างสูงงานเลี้ยงต่างๆ ไม่ควรแออัดเกินไป ถ้างดเว้นได้ก็ควรงด” อธิบดีคร. กล่าว
ทั้งนี้ ในสถานที่จัดงานเลี้ยงวันเกิด 2 งานนี้ มีผู้โหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะ จำนวนหนึ่งและได้รับ SMS แจ้งเตือนความเสี่ยงและวิธีปฏิบัติตัว นี่คือประโยชน์ของแอพฯ ที่มีระบบตรวจสอบแนะนำ
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 24 ม.ค.มีผู้ใช้งานแล้ว 6.8 ล้านคน มีผู้ได้รับการแจ้งเตือน 5,956 ราย ถือว่าตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องขอให้โหลดกันมากๆ เพื่อทำให้การควบคุมป้องกันและติดตามผู้สัมผัสเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขอยืนยันอีกครั้งว่าแอพฯ นี้ไม่มีการระบุตัวตนจึงไม่ต้อง เรื่องข้อมูลส่วนตัว.