ระหว่างนี้ที่กำลังรอให้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และพ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่แก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยในส่วนของส.ส.เขต มีการบัญญัติให้เขตเลือกตั้ง จากที่ตอนเลือกตั้งปี 2562 มี 350 เขต แต่ปัจจุบันมีการแก้ไขให้เป็น 400 เขต จึงเท่ากับมีการเพิ่มเขตเลือกตั้งขึ้นมาอีก 50 เขต
กระนั้น พบว่า จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังไม่ได้มีการ “ประกาศเขตเลือกตั้ง” ตามกติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป
ข่าวว่า เหตุที่กกต.ยังไม่ได้ขยับ เพราะต้องการรอสรุปตัวเลขประชากรไทยทั่วประเทศ ณ วันสิ้นปี 2565 ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะประกาศช่วง 30 ธ.ค.65 ที่เป็นวันทำงานราชการวันสุดท้าย เพื่อจะได้รู้จำนวนประชากรแต่ละจังหวัด-แต่ละเขตแบบไฟนอลครั้งสุดท้าย จะได้นำไปสู่การแบ่งเขตเลือกตั้งตามจำนวนประชากร จึงทำให้จนถึงขณะนี้ กกต.ก็ยังไม่ได้มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตแต่อย่างใด ว่าอำเภอไหน จะไปอยู่เขตเลือกตั้งไหน ยกเว้นแค่เขต 1 ของทุกจังหวัด ที่จะเป็นอำเภอเมืองโดยปกติอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงยังเชื่อว่า ปีนี้…ไม่น่าจะมีการยุบสภาฯเกิดขึ้น แม้จะเริ่มมีกระแสข่าวออกมาบ้างว่า อาจมีการยุบสภาฯทันที หลังกฎหมายลูกประกาศใช้ก็ตาม แต่ดูแล้วจากช่วงเวลาที่เหลือที่อีกไม่กี่วัน ก็จะสิ้นปี ทำให้ส่วนใหญ่จึงยังเชื่อว่า การยุบสภา หากเกิดขึ้นจริง คงไม่ใช่ปีนี้ แต่ช่วงม.ค.2566 สิ ไม่แน่ หากกฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นประกาศใช้ และหากยังเกิดกรณี “สภาล่ม” บ่อยๆ ก็อาจเป็นตัวเร่งการตัดสินใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาเร็วขึ้น ก็ได้
จากเดิมที่มีข่าวว่า หากไม่สามารถลากให้ครบเทอมได้จนถึง 23 มี.ค.2566 ก็อาจต้องยอมยุบสภา ช่วงปลายเดือนมกราคม หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือนก.พ.2566 ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม พบว่าระหว่างนี้ พรรคการเมืองก็มีการ “จัดทัพ-ปรับทีม” กันยกใหญ่
โดยเฉพาะพรรคตัวเต็งทั้งหลาย อย่าง “พรรคเพื่อไทย” นอกจากการจุดพลุนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ที่ถือว่า ประสบความสำเร็จในการทำให้เรื่องนี้ติดตลาดทางการเมือง คือกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากฝ่ายต่างๆ
แต่ก็ถือว่า “เพื่อไทย” ประสบความสำเร็จแล้วในการทำให้ประชาชนจดจำนโยบายพรรคได้โดยใช้เวลาเปิดแค่หนึ่งวัน ก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
ขณะที่ในส่วนของการปรับทัพภายใน “เพื่อไทย” แม้จะไม่ได้มีอะไรถูกพูดถึงมาก เพราะถูกแย่งซีนด้วย ฉากเปิด 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ โดย “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยกับการเลือก “กรรมการบริหารพรรค” แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 10 คน
ซึ่งผลการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคแทนตำแหน่งที่ว่าง แม้จะเป็นการโหวตลงคะแนน แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นการโหวตโดยมี “โผ” แจ้งให้ส.ส.-โหวตเตอร์ในวันที่ 6 ธ.ค.ดังกล่าว ที่เป็นการประชุมใหญ่วิสามัญพรรค เลือกตาม “โผ” ที่แจ้งกันไว้ล่วงหน้า
ทำให้ผลก็เลยออกมาตาม “โผล็อก” ที่วางตัว-วางชื่อ “กรรมการบริหารพรรค” ไว้แล้วล่วงหน้า เช่นในส่วนของ “รองหัวหน้าพรรค” ที่เลือกตั้งเพิ่มเข้ามา เป็นไปตามโผคือ “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” อดีตรมช.ศึกษาธิการ-อดีตปลัดมหาดไทย – “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค – “ภูมิธรรม เวชยชัย” อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย – “ดร.กิตติ ลิ่มสกุล” อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ – “จิตติพจน์ วิริยะโรจน์” อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษ
ส่วน “รองเลขาธิการพรรค” ก็ประกอบด้วย “ทพ.ญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์” ทันตแพทย์ทั่วไปโรงพยาบาลพระราม 9 ที่ลงเล่นการเมืองตั้งแต่ยุคไทยรักไทย – “ชุมสาย ศรียาภัย” หนึ่งในทีมทนายความส่วนตัวของทักษิณ ชินวัตร – “สุรเกียรติ เทียนทอง” ลูกชายเสนาะ เทียนทอง ส่วน “พลนชชา จักรเพ็ชร” เลขานุการส่วนตัวภูมิธรรม เวชยชัย และ “ยุ้ง จักรไพศาล” เป็นกรรมการบริหารพรรค
โดยทั้งหมด คือกรรมการบริหารพรรคที่เข้ามาเติมกับกรรมการบริหารพรรคที่ยังเหลืออยู่อีก 13 คน เช่น “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรค – “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรค – “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รองเลขาธิการพรรค เป็นต้น
พบว่า กรรมการบริหารพรรคที่ถูกเลือกเข้ามาทั้งหมด จะลงสมัครส.ส.รอบหน้าในระบบปาร์ตี้ลิสต์ทั้งสิ้น ส่วนส.ส.เขต ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ปัจจุบันเช่น “จิราพร สินธุไพร” ส.ส.ร้อยเอ็ด ก็จะลาออกจากกรรมการบริหารพรรคในช่วงเลือกตั้ง เพื่อไปลงเลือกตั้ง โดยไม่มีตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคห้อยท้าย เพื่อเลี่ยงการถูกร้องเอาผิดจากฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่และฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเพื่อไทย เพื่อหวังให้เป็นช่องทางสู่การยุบพรรคเพื่อไทย เพราะกรรมการบริหารพรรคที่ลงส.ส.เขต ต้องลงพื้นที่ ขึ้นเวทีปราศรัย ต้องเจอหัวคะแนน จะมีความเสี่ยงค่อนข้างมากกว่าคนลงปาร์ตี้ลิสต์อยู่แล้ว เลยทำให้ “เพื่อไทย” ต้องปิดช่องโหว่ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามหาช่องเล่นงานเพื่อไทยในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งได้
นอกจากนี้ก็จะพบว่า กรรมการบริหารพรรคที่เลือกกันเข้ามาสิบคน ก็เป็นลักษณะ “เก่าผสมใหม่” คือมีทั้งพวกเก๋าส์เกม อาวุโสสูงอย่าง “เสริมศักดิ์-ชูศักดิ์-ภูมิธรรม” ที่จะทำหน้าที่คอยเป็นพี่ใหญ่ให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ในฐานะมีประสบการณ์มากกว่าคล้ายๆเป็น “โค้ชทางการเมือง” ให้กับกรรมการบริหารพรรคและผู้สมัครส.ส.ของพรรค
ขณะเดียวกัน ก็ดัน “คนรุ่นใหม่” ให้เข้ามามีที่ทางในเพื่อไทยด้วย อาทิเช่นอย่าง “สุรเกียรติ เทียนทอง” – “พลนชชา จักรเพ็ชร” เลขานุการส่วนตัวภูมิธรรม เวชยชัย – “ยุ้ง จักรไพศาล” ที่ตอนนี้เป็นกรรมการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะเพื่อไทยต้องการให้เกิดภาพว่า เป็นพรรคที่พร้อมให้โอกาส ให้พื้นที่กับคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานกับเพื่อไทย อีกทั้งเพื่อคอยเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างพรรคเพื่อไทยกับคนรุ่นใหม่ นิวโหวตเตอร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะการถ่ายทอดแนวคิด นโยบายของเพื่อไทยผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสื่อสารกับนิวโหวตเตอร์ให้เลือกเพื่อไทย
นอกจากนี้ เพื่อไทยเริ่มมีการตั้งคณะกรรมการ-คณะทำงาน ชุดต่างๆ มาสนับสนุนการทำงานของสองกรรมการใหญ่ของเพื่อไทย คือ กรรมการบริหารพรรค และ กรรมการยุทธศาสตร์พรรค โดยตอนนี้ก็เริ่มมีการตั้งบ้างแล้วเช่น “คณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย” ที่จะมาคอยช่วยเติมเต็มการทำงานของบอร์ดยุทธศาสตร์พรรคและกรรมการบริหารพรรค ในลักษณะการเป็น “กองหนุน” ในการเข้าไปในพื้นที่เลือกตั้งต่างๆ ทั่วประเทศ ตามที่มีการร้องขอมายังคณะกรรมการชุดนี้ให้เข้าไปช่วยหาเสียง ทำพื้นที่เลือกตั้งให้ผู้สมัครส.ส.เขต เหมือนกับเป็น “ทัพหน้า” ไปลงพื้นที่ก่อน เพื่อดูคะแนนเสียงของเพื่อไทยทั้งระบบเขตและระบบพรรค-วิเคราะห์คู่แข่งขันในพื้นที่นั้นแล้ว ยิ่งผลความเห็น ข้อเสนอแนะ ส่งมายังบอร์ดกรรมการบริหารพรรคว่า เขตเลือกตั้งที่ทำข้อมูลความเห็นมาสถานการณ์เป็นอย่างไร คนของเพื่อไทย สู้พรรคอื่นได้หรือไม่…ควรลุยต่อ โดยให้เพื่อไทยส่งทัพหลวงมาตรึงพื้นที่ เช่น ทัพปราศรัยใหญ่ที่จะนำโดยแคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทยที่จะประกาศตอนเลือกตั้ง หรือเป็นเขตที่เพื่อไทย…ควรถอย อาจจำเป็นต้องลดลำดับความสำคัญลงแล้วไปเน้นพื้นที่อื่นดีกว่า เพราะโอกาสชนะแทบไม่มี พรรคไม่ควรเสียเวลากับพื้นที่นี้ เพราะสู้ยังไง ก็ไม่ชนะ
ข่าวบอกว่า เรื่องข้อมูลแนววิเคราะห์เจาะลึกรายพื้นที่แบบนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว ต้องทำความเห็นแบบรายเขตส่งมาให้กรรมการบริหารพรรคทราบโดยตลอดนับแต่ตอนนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ วางแผนสู้ศึกเลือกตั้งรายเขต แบบชี้ให้ชัดว่า เขตไหนสู้ได้ สู้ไม่ได้ เขตไหนชนะขาดลอย เขตไหนแต้มยังเป็นรอง แต่มีโอกาสพลิกชนะได้ และถ้าจะชนะ จะต้องทำอย่างไร คณะกรรมการชุดดังกล่าว ฯต้องทำรายงานส่งไปให้ บอร์ดกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพิจารณา เป็นรายเดือนต่อไปตั้งแต่นี้จนถึงเลือกตั้ง
โดยพบว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว มี “สุธรรม แสงประทุม” อดีตส.ส. อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ที่ทำงานกับทักษิณ ชินวัตรมาตั้งแต่สมัยพลังธรรม เป็นประธาน โดยมีกรรมการคนอื่นๆ เช่น “นพ.ทศพร เสรีรักษ์” อดีตส.ส.แพร่หลายสมัย – “โด่ง-อรรถชัย อนันตเมฆ” อดีตนักแสดง สายเสื้อแดง – “โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ” อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯสาขาต่างประเทศ อดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ อดีตเอ็มดี บริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ที่คุมสนามบินพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทย เป็นต้น โดยมี “ดร.กิตติ ลิ่มสกุล” อดีตอาจารย์ จุฬา ที่ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้วย เป็นที่ปรึกษากรรมการ
และคาดว่า หลังจากนี้ “เพื่อไทย” จะมีการเปิดแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งแบบใหญ่ๆ จนถึงวันเลือกตั้งปีหน้า อีกอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 2-3 ครั้ง แต่ไฮไลท์ไพ่เด็ดจริงๆ เรื่องนโยบายพรรค ที่แกนนำพรรคมั่นใจว่า เหนือกว่าพรรคอื่น ทางเพื่อไทยอาจจะทิ้งไพ่-เปิดนโยบายดังกล่าวอกอมาช่วงไม่เกินสองสัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนจดจำได้ง่ายและเลือกเพื่อไทย
แต่หลักๆ ข่าวว่า ก็คือ เป็นนโยบายพลิกฟื้นประเทศ-แก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ที่จะต้องปล่อยออกมาแล้ว ต้องโดนใจประชาชน คนจดจำได้ทันที แบบ 600 บาทค่าแรงขั้นต่ำ ที่ใช้เวลาวันเดียว ก็ติดตลาด
ทั้งหมดคือการฉายภาพให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว ของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ในการจัดทัพ เตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ทั้งเรื่องนโยบายพรรค การจัดทัพในส่วนของโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค รวมถึงการตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อมาเสริมทัพให้พรรคแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อเป้าหมายแลนด์สไลด์
ส่วน “ทักษิณ-เพื่อไทย” จะทำได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ “ประชาชน” ซึ่งเป็นคนกดปากกา ลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งว่าจะเอาด้วยกับสิ่งที่ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ภูมิใจนำเสนอหรือไม่ ?
…………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”