วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSชำแหละ“ค่าแรง 600 บาท”...ยังมีการบ้านต้องทำ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ชำแหละ“ค่าแรง 600 บาท”…ยังมีการบ้านต้องทำ

เมื่อเกือบๆ 10 ปีที่แล้ว พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายหาเสียงที่สร้างความฮือฮาที่สุดเหนือกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วยนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ ในอดีตที่มีการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ สำหรับในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า พรรคเพื่อไทยก็ประกาศขึ้นค่าแรงครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

ทันทีที่ประกาศนโยบายออกมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือดมีทั้ง “เห็นด้วย” และ “เห็นต่าง” เป็นเรื่องปกติ เข้าตำรา “สองคนยลตามช่อง” แต่ต้องยอมรับว่า ผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง จะส่งผลเป็นลูกระนาดไปสู่แรงงานในกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เพราะ “นายจ้าง” ต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างทั้งกระดาน เพื่อรักษาส่วนต่างระหว่างค่าจ้างของลูกจ้างรายได้น้อยและค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มอื่น ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากการไหลออกของแรงงานได้

อย่างไรตาม พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า จะปรับค่าแรง 600 บาท แบบค่อยๆ ขยับเป็นขั้นบันได กระทั่งในปี 2570 ก็เท่ากับเพิ่มประมาณ 17% ต่อปี แม้ว่า ค่าจ้างแรงงาน จะมีสัดส่วนต้นทุนต่ำมากกว่าต้นทุนอื่นๆ ก็ตาม จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา “นายทุนเจ้าของกิจการ” มักจะแก้ปัญหาด้วยการ “ลดคน” ก่อนอันดับแรก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ต่อมาจะใช้วิธีลดสวัสดิการ ตัดค่าโอที. เป็นต้น อีกทั้งพวก “รายใหญ่” ยังมีทางเลือก โดยย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า

บทเรียนเมื่อคราวที่พรรคเพื่อไทยขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยคุยกับเด็กปั๊มที่ตอนนั้นได้ค่าจ้าง 270 บาท ชุดทำงานฟรี ข้าวกล่อง 1 มื้อ ที่พักฟรีในปั๊ม คิดเป็นรายได้มากกว่า 300 บาท พอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นายจ้างตัดค่าโอที ไม่มีชุดทำงานให้ และยกเลิกข้าวกล่อง หักกลบลบกันแล้ว รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลง

แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านกาแฟ ร้านข้าวแกง อาหารตามสั่ง ที่ยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 ยังไม่ทันตั้งหลัก ต้องมาเจอค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทางออกคือ ลดคนกับขึ้นราคา หรือเลิกไปเลย รวมถึง “กลุ่มเกษตรกร” ที่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาในต่างจังหวัด จะกระทบหนักที่สุด

เรื่องอย่างนี้ บรรดานักการเมือง นักวิชาการ ที่ออกมาหนุนแบบหัวปักหัวปำ อาจจะมองข้าม ไม่มีใครมองเห็นความเดือดร้อนของภาคเกษตร ที่ต้องมีภาระจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น แถมธรรมเนียมปฏิบัติในต่างจังหวัด นอกจากจ่ายค่าแรงแล้ว ยังมีค่าต้องเลี้ยงดูเพิ่มเติมอีก ปกติเกษตรกรทำไร่ทำนาต้องแบกรับค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ที่เพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้ว หากปรับค่าแรงเพิ่ม คงอยู่ลำบาก เพราะราคาสินค้าเกษตร ไม่ได้ปรับขึ้นตาม ต้องหาทางออกให้คนกลุ่มนี้ด้วย

ฉะนั้นพรรคการเมืองที่กำหนดนโยบาย ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน และต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม พร้อมจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

ในอดีตทุกครั้งที่รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนหนึ่งจะไปอยู่ในกระเป๋า บรรดานายทุนจะฉวยโอกาสจะขึ้น “ราคาสินค้า” และ “ค่าบริการ” ดักไว้ล่วงหน้า อ้างว่าต้นทุนเพิ่ม ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับ ก็แทบไม่เหลือ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือ “กลุ่มทุน” นั่นเอง

นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงยังเป็นแรงจูงใจให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทำแย่งงานคนไทยมากขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาซ้ำซาก ที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนแก้ได้ ปัจจุบันแรงงานต่างชาติก็มากกว่าแรงงานไทยอยู่แล้ว

ไม่ได้คัดค้านนโยบายการขึ้นค่าแรง 600 บาท ต้องยอมรับความจริงว่า ค่าแรงทุกวันนี้ แรงงานอยู่ไม่ได้ ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ จนส่งผลให้หนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูดกว่า 94% หรือกว่า 14 ล้านล้านบาท แต่ต้องไม่ใช่มีแต่นโยบายค่าแรงออกมาแบบโดดๆ ต้องมีมาตรการอื่นๆ มารองรับด้วย จะต้องมีมาตรการป้องกันพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ที่มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการปรับค่าแรง ไม่ใช่ขึ้นค่าแรง แล้วแรงงานยังอยู่ไม่ได้

ในระยะยาว ธุรกิจจะต้องไม่มีการผูกขาด โดยส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ทุกวันนี้ราคาสินค้าแพง เพราะมีการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าราคาพลังงาน เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า รวมถึงประปา โทรคมนาคม การผูกขาดเป็นต้นเหตุทำให้มีราคาแพงเกินจริง

ปัจจัยเหล่านี้เป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจ ควรต้องเลิกการผูกขาดและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรี เพื่อให้ต้นทุนธุรกิจถูกลง เมื่อผู้ประกอบการอยู่ได้ ก็จะสามารถรับภาระค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มได้

ที่สำคัญรัฐจะต้องทบทวนนโยบาย “ดอกเบี้ยเงินกู้” ให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็จะแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการได้มาก รวมถึงต้องยกเลิกภาษีที่ซ้ำซ้อน ต้องแก้ปัญหาคอรัปชั่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งสิ้น

อันที่จริงการขึ้น “ค่าแรง” ควรเกิดจากการ “สร้างงาน” จำนวนมากๆ ควบคู่กับการพัฒนาแรงงานให้มี “ทักษะสูง” และ “ตรงกับความต้องการของตลาด” เช่น สมมติรัฐส่งเสริมการลงทุนเอกชน จนสามารถจ้างงานได้ 20 ล้านตำแหน่ง ถ้าแรงงานว่างงานมี 10 ล้านคน จะเกิดการแย่งแรงงาน ค่าแรงก็ปรับขึ้นอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้ถึงวันเลือกตั้ง แล้วให้พรรคการเมืองใช้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหาเสียง

สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ นั่นหมายความว่า จีดีพี.ของประทศต้องโตไม่ต่ำกว่า 5 ทุกปี เหนือสิ่งใดต้องมีการกระจายได้ให้ทั่วถึงเท่าเทียม ไม่ใช่รวยกระจุก-จนกระจายอย่างทุกวันนี้

นโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังมีความจำเป็น เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ แต่พรรคเพื่อไทยต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม แรงงานต้องอยู่ได้ ผู้ประกอบการต้องอยู่รอด เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img