วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSโฉมหน้า“เศรษฐกิจ-การเมืองไทย”.. ปี’66 เสี่ยงทั้งคู่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โฉมหน้า“เศรษฐกิจ-การเมืองไทย”.. ปี’66 เสี่ยงทั้งคู่

นักวิเคราะห์หลายๆ สถาบันต่างฟันธงแทบจะทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2566 สถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งในระดับโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงและผันผวนมากมาย ส่วน เศรษฐกิจไทยปีหน้า มีทั้งความเสี่ยงใหญ่จากปัจจัยภายนอก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คิด ตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีความผันผวนและทำงานผิดปกติ อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญก็คือ “ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล”

ล่าสุด รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบลดแลกแจกแถม แพ็คเกจใหญ่ อีกทั้งตอนนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มหาเสียงเลือกตั้งในปีหน้า เสนอนโยบายแปลก ๆ โดยเฉพาะ นโยบายประชานิยม ประเคนออกมาแบบไม่บันยะบันยัง ที่ล้วนเป็นนโยบายระยะสั้น ๆ แต่จะมีผลข้างเคียงในระยะยาว

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ ยังต้องเผชิญระเบิดเวลาลูกใหญ่จาก “หนี้ครัวเรือน” ที่เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจปีหน้า บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ระบุว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88% ของ GDP ไส้ในของหนี้ครัวเรือน 14.7 ล้านบาท ประมาณ 28% เป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค กู้มากินมาใช้ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่อันตราย

กล่าวโดยสรุป ในปี 2566 ไทยเราจะต้องเจอกับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดภาวะถดถอย ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงประเทศจีน ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติโควิดระลอกใหม่ หลังจากนโยบาย Zero COVID ล้มเหลว หากเศรษฐกิจจีนถดถอย ทั้งโลกก็ต้องเผชิญวิกฤติตามไปด้วย โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ต้องพึ่งพาจีนทั้งเรื่องท่องเที่ยวและส่งออกเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน วิกฤติราคาพลังงาน เช่น ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน มกราคม 2566 เป็น 5.37 บาทต่อหน่วย ทำให้ต้นทุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น

การส่งออก คาดว่าจะลดลงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย หากต้นทุนพลังงานมาซ้ำเติมอีก เครื่องยนต์ส่งออกของไทยคงดับสนิทแน่ ๆ

มีเพียง การท่องเที่ยว เครื่องยนต์เดียวเท่านั้น ที่เป็นความหวังในการสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ยังลุกผีลูกคน เพราะต้องลุ้นนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหลัก

หันมามอง สถานการณ์การเมืองในปีหน้า ก็มีความเสี่ยงเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่ย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ 2566 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของ “รัฐบาลลุงตู่” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองยุบสภา สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะหมดวาระอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2566 และจัดให้มีการเลือกตั้งต้นพฤษภาคม 2566

สถานการณ์ทางการเมืองในปีหน้ายังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป แม้จะได้เลือกตั้ง แต่สิ่งที่คนไทยวิตกกังวลค่อนข้างมาก นั่นคือ โฉมหน้าการเมืองไทยหลังเลือกตั้งใหญ่จะเป็นอย่างไร-รัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพมั่นคงหรือไม่-ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อจะกลับมาอีกไหม

จากผลสำรวจของโพลสำนักต่าง ๆ ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคเพื่อไทย น่าจะมาอันดับ 1 แต่คงไม่ถึงกับแลนด์สไลด์ตามที่ประกาศไว้ เนื่องจากครั้งนี้พรรคของ “นายพล 2 ป.” ที่เคยเป็นเนื้อเดียวกัน มีพรรคพลังประชารัฐสนับสนุน เที่ยวนี้ 2 ป.ใส่รองเท้าคอนเวิร์ส ทางใครทางมัน อาจจะเป็นแค่พรรคกลาง ๆ ทั้งคู่ ซึ่งคู่แข่งพรรคเพื่อไทยจริง ๆ จะเป็น พรรคภูมิใจไทย

สิ่งที่หลายคนกำลังวิตกหากพรรคเพื่อไทยที่ได้อันดับ 1 แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ และไม่ได้เป็นรัฐบาล โดน “ขั้วเก่า” ที่ได้คะแนนรองลงมาจับมือกันชิงจัดตั้งรัฐบาล เหมือนปี 2562 คนไทยที่เลือกพรรคเพื่อไทย จะรับได้หรือไม่ เพราะเท่ากับครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่พรรคอันดับ 1 ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

ในทางกลับกัน หากพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะบริหารประเทศได้หรือไม่ กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามและพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามจะยอมหรือไม่ จะมีการสร้างสถานการณ์ เกิดความวุ่นวายจนเกิดการรัฐประหารอีกหรือไม่อย่าลืมว่า ประวัติศาสตร์การเมืองในบ้านเราซ้ำรอยได้เสมอ

ตรงนี้เป็นความกังวลของคนไทย เพราะอยากเห็นรัฐบาลที่มั่นคงบริหารประเทศให้เกิดวามต่อเนื่อง อันที่จริง…ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่วิตกกังวล แม้แต่นักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มีความเป็นห่วงเช่นเดียวกัน สถานการณ์การเมืองไทยในปีหน้า จึงอยู่ในสภาพที่เปราะบางที่พร้อมจะแตกหักได้

มองโจทย์ใหญ่ที่มันจะเกิดขึ้นในครั้งหน้าจะเป็นวิกฤต หากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

นั่นคือหนทางนำไปสู่สภาพการเมืองเสื่อมทรุด ผู้นำไม่ได้รับการยอมรับหรือได้รับความยอมรับน้อยมาก มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ได้

โลกในปี 2566 จะมีแต่ความผันผวนและท้าทายโดยเฉพาะเศรษฐกิจ รัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศต้องเจออุปสรรคมากมาย ดังนั้นรัฐบาลที่จะบริหารประเทศได้ต้องมีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ ต้องเก่ง มีวิสัยทัศน์มีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญต้องบริหารงานอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าอยู่ในสภาพรัฐบาลเป็ดง่อย ไม่มีน้ำยา แทนที่จะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนประเทศ ก็จะกลายเป็นภาระของประเทศในที่สุด

…………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img