4 หน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจ ทั้ง สำนักงบประมาณ, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์”, กระทรวงการคลัง และ แบงก์ชาติ ต่างเห็นชอบกับ กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ที่ 5.93 แสนล้านบาท
กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 67 ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอีก 1.65 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2% ขณะที่รายได้ของรัฐบาล มีวงเงินที่ 2.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 10.7% ขณะที่การขาดดุลงบประมาณเป็นการขาดดุลที่ลดลงประมาณ 1.02 แสนล้านบาท
หากจำกันได้!! หลายรัฐบาลได้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานกว่า 20 ปีแล้ว หรือพูดง่าย ๆ ก็คือด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลนั้นน้อยกว่ารายจ่ายที่มีเพิ่มขึ้นทุกปี
จนถึงขนาดที่…มีหลายคนหลายฝ่ายเคยให้ฉายารัฐบาลกันว่า “นักกู้” เพราะต้องกู้ยืมเงินจากประชาชน กู้ยืมจากเอกชน ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล แล้วให้ดอกเบี้ย เพื่อให้รัฐบาลมีรายรับเพิ่มและปิดหีบได้ลงตัว
แม้ว่าการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล จะทำให้ภาครัฐมีวงเงินเพื่อดูแล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่บอบช้ำมากจากสารพัดวิกฤติ หรือในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นผลดีต่องบประมาณของประเทศในระยะยาว
ผู้นำรัฐบาลอย่าง “บิ๊กตู่” ออกมาตอกย้ำแล้วย้ำอีกว่า ที่รัฐบาลต้องกู้ ก็เพื่อมาดูแลเยียวยาช่วยเหลือคนไทยทั้งชาติ เพราะประเทศเจอะเจอกับสารพัดวิกฤติ แบบชนิดที่เรียกว่า “วิกฤติซ้อนวิกฤติ”
แต่ก็อย่าลืมว่า…ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง จนมาถึงทุกวันนี้ รัฐบาลยังใช้หนี้ 1.4 ล้านล้านบาทไม่หมด ยังคงเหลือเงินต้นอีกกว่า 6.85 แสนล้านบาท โดยมีการคาดการณ์กันว่ากว่าจะหมดหนี้หมดสินจากหนี้ก่อนนี้คงต้องกินเวลายาวนานไปจนถึงปี 74 โน่น หรืออีกราว 8 ปีข้างหน้า
ต่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างรู้ดีอยู่แล้วว่า…การขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีกับประเทศ เพราะ…การลงทุนเพื่อการพัฒนาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ที่สำคัญ!! หากไม่มีภาคเอกชนทั้งไทยและเทศ มาช่วยเพิ่มการลงทุนด้วย อีกไม่ช้าไม่นานประเทศมีแต่สาละวันเตี้ยลงเตี้ยลงแน่นอน
การหวังจะไปรีดภาษีทุกเม็ดในทุกช่องทาง อาจช่วยได้บ้าง แต่ก็อยู่บนคำครหาที่ว่า “ไม่เป็นธรรม” จากบรรดา คนชั้นกลาง-มนุษย์เงินเดือน ที่เสียภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ใน รายใหญ่!! กลับมีช่องให้เลี่ยงภาษีแบบถูกกฎหมาย
ที่สำคัญยิ่งกว่า หากประเทศไม่มีการลงทุน ไม่มีการพัฒนา แล้วจะมีเงินที่ไหนมาหมุนเวียน ลำพังเพียงแค่รอการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย ก็ไม่ได้มีสัดส่วนถึงขนาดที่จะครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งหมด
แถม อนาคตของการส่งออก ที่เคยเป็นพระเอกของประเทศมาโดยตลอด ก็กำลังพบเจอกับมรสุมสารพัด โดยบรรดา “กูรู-กูรู้” ต่างออกมาประเมินในทิศทางเดียวกันว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะเติบโตได้เพียง 1-2% เท่านั้น
เห็นอย่างนี้แล้ว…จะเอาอะไรมาสู้!!
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็นปีแรกหรือปีเริ่มต้นของการขาดดุลงบประมาณให้เหลือไม่เกิน 3% ของงบประมาณในภาพรวม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในช่วงถัดไปได้
ในแผนการคลังระยะปานกลาง คือตั้งแต่ปีงบประมาณ 67-70 ได้กำหนดให้มีการลดการขาดดุลลง ซึ่งเริ่มจากปี 67 เป็นปีแรก ขณะที่ปีงบประมาณ 68 ตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณ ที่ระดับ 5.9 แสนล้านบาท หรือ 2.84% ของงบประมาณทั้งหมด
ส่วนปีงบประมาณ 69 การขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 6.15 แสนล้านบาท หรือ 2.81% ของงบประมาณทั้งหมด และปีงบประมาณ 70 การขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 6.41 แสนล้านบาท หรือ 2.79% ของงบประมาณทั้งหมด
เป้าหมายการลดการขาดดุลงบประมาณลง ถือเป็นเรื่องดีและ “ต้องทำ” แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะดีขึ้น ทรงๆ หรือแย่ลง ซึ่งในข้อเท็จจริงก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในช่วง 4 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกันรัฐบาลเองยังยอมรับว่า รายได้รัฐบาลมีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงเท่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้วยหลายเหตุปัจจัย
เอาเป็นว่า ณ เวลานี้ รัฐบาลเริ่มตั้งเป้าหมายที่จะจัดทำงบประมาณแบบสมดุล ก็ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ปัญหา? อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะสามารถกดรายจ่ายให้ลดลงได้อย่างไร?
นั่นคือคำถาม…ที่หลายคนต่างอยากรู้คำตอบ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างของข้าราชการ ที่พบว่า…เพิ่มมากขึ้นทุกปี!!
…………………………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)