วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“กพท.”ผลักดันผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน “กลุ่มโรงกลั่น”เตรียมลงทุน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กพท.”ผลักดันผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน “กลุ่มโรงกลั่น”เตรียมลงทุน

เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของอุตสาหกรรมการบินที่วางแผนลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่เป้าหมาย Net Zero โดยกลุ่มประเทศในยุโรปก็เริ่มมีการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนกันบ้างแล้ว ซึ่งนอกจากลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังได้รับการลดภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) อีกด้วย

ส่วนในประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้เริ่มระดมความคิดเห็นกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน กลุ่มผู้ผลิตเทคโนโลยีการผลิตน้ำมัน รวมถึง ผู้ให้บริการน้ำมันอากาศยาน เพื่อกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ขณะที่ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน อย่าง กลุ่มปตท. และ กลุ่มบางจาก ก็เริ่มดำเนินการวางแผนที่จะลงทุนในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF กันบางแล้ว

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

กลุ่มปตท. โดย “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กลุ่มปตท.อยู่ระหว่างร่วมมือกันในการศึกษา พัฒนาและลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาเสร็จภายในปี 2566 แต่จะลงทุนอย่างไรก็ต้องดูความต้องการของตลาดด้วยถึงตัดสินใจการลงทุน สำหรับความร่วมมือภายในกลุ่มปตท. นั้นประกอบด้วย ปตท. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลจำกัด (มหาชน) (GC), บริษัท ไออาร์พีซีจำกัด (มหาชน) (IRPC), บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)

เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)

ทั้งนี้ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการผนวกรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของกลุ่ม ปตท. ในการประกอบธุรกิจโรงกลั่นพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการพัฒนากระบวนการกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูงจาก ไทยออยล์, GC และ IRPC ตลอดจนความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานทั้งในประเทศและต่างประเทศของ OR มาต่อยอดการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐานระดับโลก ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิต Hydroprocessed Esters and Fatty Acids (HEFA) และ Alcohol to Jet (ATJ) มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

ด้าน กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้ร่วมกับพันธมิตรอย่าง บริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ร่วมทุนกันจัดตั้ง บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน โดยมีแผนจะนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) ซึ่งกลุ่มบางจากคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 8,000-10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้กลุ่มบางจากยังมีความเชื่อมั่นน้ำมัน SAF จะเติบโตได้เป็นอย่างดีในอนาคต และจะเป็นเชื้อเพลิงที่ภาคการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตามสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้กลุ่มบางจากยืนยันว่าจะทำให้ BSGF เป็นผู้การผลิต “เชื้อเพลิงเครื่องบินคาร์บอนต่ำ” จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและเป็นแห่งที่สองในภูมิภาคเอเชีย

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก

“ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า “เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ Net Zero ทุก ๆ อุตสาหกรรมต่างก็หาวิถีที่เหมาะสมกับตนเอง ตัวอย่างเช่นวงการแข่งรถอย่าง Formula 1 ก็เตรียมเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน Sustainable Fuel 100% ในปี ค.ศ. 2026

สำหรับอุตสาหกรรมการบินนั้น SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารจะช่วยลดการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ลงได้กว่า 80% เทียบเท่าการบินด้วยเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน โดยในระยะแรกของการผลิตกลุ่มบางจากจะเริ่มการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางและขนส่งทางอากาศลงได้ราว 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil AviationOrganization : ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (InternationalAir Transport Association : IATA)ที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปีค.ศ. 2050

เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)

ด้าน “ธรรมรัตน์ ประยูรสุข” รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน BCP ระบุว่า บางจากมุ่งต่อยอดการเติบโตจากศักยภาพใหม่ ๆ โดยนอกจากด้านการกลั่นและการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันยานยนต์และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Products Refinery) เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกยานยนต์เป็นกว่า 60% ภายใน พ.ศ.2573 อย่างไรก็ตามสำหรับการลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน SAF ในขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี พร้อมเปิดเดินเครื่องและเริ่มจำหน่ายน้ำมัน SAF ได้ในปี 2568

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS

“ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภาคการบินก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว ซึ่ง BAFS เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่จะมาดูว่าประเทศไทยจะต้องกำหนดแนวนโยบายอย่างไร เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมการบินรองรับการใช้น้ำมัน SAF ได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ BAFS เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการลงทุนพัฒนาผลิตน้ำมัน SAF เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเศษวัสดุจากการเกษตรเหลือใช้จำนวนมาก สามารถนำมาเข้าสู่ขบวนการผลิตน้ำมัน SAF จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล โดยบทบาทของ BAFS จะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันว่าได้ตามมาตรฐานสากลที่เขารับรองหรือไม่ พร้อมกับให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน เพื่อให้สายการบินมั่นใจว่ามีความปลอดภัย

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับกลุ่มบางจาก โดยกลุ่มบางจากจะใช้น้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาเข้าขบวนการผลิตเพื่อกลั่นเป็นน้ำมัน SAF ส่วน BAFS ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเช่นเดียวกับความร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล ซึ่ง BAFS เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการผลิตและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจะค่อยๆ เติบโต และจะมีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากหลายประเทศมุ่งมั่นการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคอุตสาหกรรมการบินก็ต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน SAF

อย่างไรก็ตามสายการบินในยุโรปก็ได้เริ่มกำหนดเป้าหมายการใช้น้ำมัน SAF กันแล้ว โดยในปี 2030 วางเป้าหมายการใช้น้ำมัน SAF อย่างน้อย 10% ของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานทั้งหมดในยุโรป ส่วนปี 2023 กำหนดเป้าหมายการใช้น้ำมัน SAF ไว้ที่ 3%

สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท.

“สุทธิพงษ์ คงพูล” ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ปัจจุบัน กพท. อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิตน้ำมันอย่าง กลุ่มบางจาก กลุมปตท. กลุ่มที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการผลิตพัฒนาน้ำมัน SAF เช่น กลุ่มฮันนี่เวลล์ รวมถึงผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อกำหนดแนวนโยบายการส่งเสริมการผลิตและการใช้น้ำมัน SAF เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินของไทยมีความพร้อมรองรับในการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ความพร้อมของสายการบินจะต้องมีโครงการทดลองเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบิน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นสายการบินของไทยมีการทดลองใช้น้ำมัน SAF ในปี 2566 อย่างไรก็ตามในช่วงแรกต้นทุนราคาน้ำมัน SAF คาดว่าจะมีราคาที่สูงกว่าน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 4 เท่า ดังนั้นก็ต้องไปดูว่าการผลิตจากวัตถุดิบแบบไหนที่มีต้นทุนต่ำ และต้องไปดูว่าจะมีการส่งเสริมอย่างไรให้เกิดการใช้ให้มากขึ้น เมื่อมีการใช้มากขึ้นราคาก็จะลดลง

………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย… ไรวินทร์

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img