จากเปลือกส้ม สู่พลาสติก‘สีเขียว’ ฟินแลนด์พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ใช้ขยะการเกษตรผลิตพลาสติก PEF ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรมพลาสติก
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 เพจ GC ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) นำเสนอเนื้อหาน่าสนใจเรื่อง…จากเปลือกส้ม สู่พลาสติก‘สีเขียว’ มีเนื้อหาว่า…ฟินแลนด์พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ใช้ขยะการเกษตรผลิตพลาสติก PEF ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน
VTT สถาบันวิจัยชั้นนำของฟินแลนด์กำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีองค์ประกอบของสารเพคทิน (Pectin) เช่น เปลือกส้ม และกากหัวชูการ์บีท มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพ PEF (polyethylene furanoate) พลาสติก PEF นี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตลงได้ถึง 50% อีกทั้งยังช่วยยืดอายุการเก็บถนอมอาหารด้วย
“ในอนาคตอันใกล้คุณอาจซื้อน้ำส้มในขวดที่ทำจากเปลือกส้ม เทคโนโลยีใหม่ของ VTT นำเสนอแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำอาหารเหลือทิ้งมาใช้เป็นวัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ และขณะเดียวกัน ก็สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย” Holger Pöhler นักวิจัยจาก VTT กล่าว
เทคโนโลยีของ VTT ใช้ตัวกลางที่มีความเสถียรในการผลิต FDCA (2,5-furandicarboxylic acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในโมโนเมอร์ของ PEF นอกจากนี้ การใช้วัตถุดิบจากขยะที่มีองค์ประกอบของสารเพคตินยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรมพลาสติกด้วย