รองโฆษกรัฐบาล เผย 19 ม.ค.นี้ รฟท. เตรียมเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง รถไฟทางไกลสายเหนือ ใต้ อีสาน มาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมเป็นสถานีรถไฟใหญ่สุดในอาเซียน รองรับการเดินทางของ ปชช. แก้ไขปัญหาด้านการจราจร
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.66 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาด้านการจราจร เชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ปริมณฑล รวมถึงเชื่อมโยงต่อไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เดินหน้ายกระดับให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางของประเทศ และเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก พร้อมพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที ส่งเสริมให้เกิดการกระจายโอกาสในด้านต่างๆ สู่ประชาชน ทั้งในด้านของการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลได้ดำเนินการในการมุ่งพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ
นางสาวรัชดา กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางของขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ อีสาน ทั้งขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยจุดจำหน่ายตั๋วโดยสาร จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ 19 มกราคม 2566 นี้ ณ บริเวณทางเข้าประตูที่ 4 และบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้น G โดยมีช่องจำหน่ายตั๋วให้บริการทั้งหมดกว่า 18 ช่อง รองรับการบริการให้กับผู้โดยสารอย่างทั่วถึง
สำหรับบริเวณจุดพักคอย เฉพาะผู้โดยสารที่มีตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล สามารถรอขึ้นรถไฟทางไกลได้ภายในบริเวณโถงด้านล่างสถานี เพื่อรอขึ้นขบวนรถบนชานชาลา ก่อนเวลาขบวนรถออก 20 นาที เมื่อขบวนรถจอดเทียบแล้ว อนุญาตให้ผู้โดยสารเข้าสู่บริเวณชานชาลาได้
ส่วนจุดให้บริการชานชาลาของรถไฟทางไกล ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะอยู่ชั้นที่ 2 บริเวณประตู 4 มีจำนวน 12 ชานชาลา แบ่งออกเป็น 1. รองรับรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา คือ ชานชาลาที่ 1 และ 2 สำหรับรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ขาออก) ชานชาลาที่ 5 และ 6 สำหรับรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ขาเข้า) ชานชาลาที่ 7 และ 8 สำหรับรถไฟสายใต้ (ขาออก) ชานชาลาที่ 11 และ 12 สำหรับรถไฟสายใต้ (ขาเข้า) 2. รองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา คือ ชานชาลาที่ 3 และ 4 สำหรับเส้นทางบางซื่อ-รังสิต ชานชาลาที่ 9 และ 10 สำหรับเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน
“การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังให้สิทธิ์ผู้โดยสารที่ใช้ตั๋วขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และตั๋วเดือน สามารถใช้ตั๋วดังกล่าวเข้าใช้บริการขึ้น-ลง รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ภายในระยะเวลา 1 ปี (ตามเงื่อนไข) ส่วนผู้โดยสารที่ใช้บริการขบวนรถชานเมือง สามารถใช้ตั๋วเดือนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม (ตามเงื่อนไข) ทั้งนี้ ไม่มีการจำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกลที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ และสถานีหลักหก สอบถามเพิ่มเติม โทร.1690” นางสาวรัชดา กล่าว