ในยุคที่ราคาพลังงานแพง นอกจากเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ แล้ว กระทรวงพลังงาน โดย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังได้เปิดให้ ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง โดยคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ ในเดือนก.พ นี้
นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดให้ ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 ซึ่งเป็นแหล่งบนบกทางภาคอีสาน หวังช่วยลดต้นทุนพลังงานที่สูง โดยการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นั้นเป็นการเสริมศักยภาพด้านพลังงานในอนาคต และชดเชยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูง
เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 24 ในอ่าวไทย
“สราวุธ แก้วตาทิพย์” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า การประกาศพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยสำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 นั้นมีผู้ยื่นเสนอ 2 ราย ในขณะนี้ขึ้นตอนการพิจารณาได้เร่งดำเนินการและจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ ในเดือนก.พ.นี้
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 นั้นทาง “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” เคยประเมินไว้ว่า จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท และจะต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาทหากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม นอกจากนั้น ยังสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไร ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศอีกครั้ง
“เตรียมประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบ 25 บนบกที่อีสาน”
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังเตรียมจะหารือ และเร่งพิจารณาขีดเส้น แบ่งแปลงที่จะเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 ในพื้นที่บนบกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ยื่นสิทธิ์สำรวจได้ภายในปี 2566 ซึ่งพื้นที่บนบกนั้น ทางทีมงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการหารือกันในเบื้องต้นกับทีมงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาแนวทางการสำรวจหากพบว่า พื้นที่ปิโตรเลียมเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นอนุรักษ์ป่าไม้ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยอาจจะเลือกพื้นที่ที่ไม่มีปัญหามาเปิดให้ยื่นสิทธิ์ก่อน เพื่อให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมาบริหารจัดการ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดผลกระทบจากการนำเข้าพลังงานที่มีราคาสูง
นอกจากการ เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 และรอบที่ 25 แล้วทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังได้เร่งหารือร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ ในการเจรจากับกัมพูชา พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) โดยคาดว่า จะมีการหารือร่วมระหว่างคณะทำงานของ 2 ประเทศใน 2 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อที่ร่วมกำหนดแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมให้เกิดประโยชน์ต่อ 2 ประเทศ
“ปตท.ผส. หนุนประมูลแหล่งบนบก-ยื่นรอบ 24 จำนวน 2 แปลง”
“มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.ผส. ระบุว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือง ปตท.ผส. มีการลงทุนผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี กำลังผลิตราว 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในอีก 8 ปีข้างหน้า จึงสนับสนุนให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 แหล่งบนบกที่อยู่ใกล้เคียงแหล่งสินภูฮ่อม โดยเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซธรรมชาติ สามารถป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพอง ผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี
ขณะที่การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 นั้น ทาง ปตท.สผ. ได้ยื่นขอสิทธิสำรวจ 2 แปลง ซึ่งเป็นแปลงที่มีศักยภาพและอยู่ใกล้กับแท่นผลิตของ PTTEP ในปัจจุบัน คาดว่าจะทราบผลการประมูลในเดือนก.พ.2566 โดยหลังจากประกาศผล หาก ปตท.สผ. ได้สิทธิก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปีในการสำรวจจะทำให้ทราบว่ามีปริมาณแก๊สเท่าไหร่ และสามารถเริ่มการผลิตได้ ซึ่งใช้เวลาเร็วขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ต้องใช้ระยะเวลาราว 6-10 ปีกว่าจะเริ่มผลิตได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสำรวจ
“มนตรี” กล่าวอีกว่า วิกฤติพลังงานราคาแพง การลงทุนผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย และเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และมาเลเซีย การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตในอ่าวไทย ช่วยลดต้นทุนการผลิต ช่วยดึงต้นทุนราคาก๊าซฯ ลดมาได้ และช่วยให้ประเทศการลดนำเข้า LNG จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันก๊าซฯ ที่มาจากอ่าวไทยและเมียนมา คิดเป็น 60% ของปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ทั้งหมดในประเทศ ส่วนอีก 40% เป็นการนำเข้า LNG ซึ่งมีราคาสูงกว่า โดยราคา LNG ปัจจุบันเฉลี่ยในระดับ 700-800 บาทต่อล้านบีทียู เทียบกับราคาเฉลี่ยก๊าซฯในอ่าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู
“เร่งติดตั้งแท่นผลิตแหล่งเอราวัณตามแผน”
ส่วนความคืบหน้าการเร่งผลิตในโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ในปี 2565 ได้ติดตั้งแท่นผลิตไปแล้ว 8 แท่น และในปี 2566 มีแผนจะติดตั้งอีก 4 แท่น รวมเป็น 12 แท่น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในช่วงกลางปีนี้เพิ่มเป็น 400-450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตกว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปีนี้ ก่อนขึ้นไปแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนเม.ย.ปี 2567 ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)
พร้อมกันนี้ในช่วงที่การผลิตของแหล่งเอราวัณหายไป ปตท.สผ.ก็ได้เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์มาชดเชย โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมผลิตราว 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีแผนจะเพิ่มการผลิตเป็น 330-350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใน 2 ปีข้างหน้า
ส่วนโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามเงื่อนไขสัญญา PSC และปัจจุบันผลิตอยู่ที่ราว 750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีบางช่วงผลิตสูงถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปี 2567 จะรักษากำลังการผลิตไว้ที่ระดับ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
…………………………….
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย…“ไรวินทร์”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)