เปิดสัมพันธ์ “ทักษิณ” นักโทษหนีคดี กับ “มิน อ่อง หล่าย” ผู้ทำรัฐประหารเมียนมา ลึกซึ้งตั้งแต่ยุค “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกฯ ถึงขั้นเรียก “ไอ้” กันในคลิปถั่งเช่าฉาว บุกไปดูโครงการท่าเรือทวาย พักบ้านหรูเชิงเขามัณฑะเลย์ ก่อนจะยกที่ดินใจกลางเมืองย่างกุ้งให้ สุดท้ายได้บ่อน้ำมันสมใจ หลังเคยปล่อยเงินกู้ 4 พันล้าน ดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน ในยุคตัวเองเป็นผู้นำ จนถูกตัดสิน 3 ปี และหนีคดี
หลังเกิดเหตุรัฐประหาร ยึดอำนาจในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา นำโดย “พล.อ.มิน อ่อง หล่าย” ผบ.ทหารสูงสุดเมียนมา ที่อยู่ในอำนาจ มานานถึง 10 ปี ด้วยวัย 64 ปี เข้าทำการยึดอำนาจจากนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา และประธานาธิบดีวิน มินต์พร้อมกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจัดระเบียบต่างๆ ก่อนจะให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น
ก่อนหน้านี้ เพจ “Wassana Nanuam” ของน.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายทหาร ระบุว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย มาเยือนไทยหลายครั้ง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อมาประชุม GBC คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-เมียนมา ในฐานะแขกของผบ.ทหารสูงสุดของไทบ และก่อนหน้านี้ เมื่อมาไทย ก็มักจะไปพบกับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ โดยมีความสนิทสนมกันมากถึงกับ ขอเป็นลูกบุญธรรมพล.อ.เปรม เพราะรู้สึกว่า เหมือนพ่อของตนเอง เนื่องจากพล.อ.เปรมอายุห่างจากพ่อของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย เพียง 1 ปี กระทั่งพล.อ.เปรมถึงแก่กรรม พล.อ.มิ่น อ่อง หล่าย ก็ยังเดินทางมาเคารพศพ ที่วัดเบญจมบพิตร และไปลงนาม ที่วังสราญรมย์ด้วย
cr : FB Wassana Nanuam
อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์ กลับมีการขุดคุ้ยความสัมพันธ์ระหว่างพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา และหัวหน้าคณะรัฐประหาร กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หนีคดีของไทย โดยนำ “คลิปถั่งเช่า” ในอดีตที่โด่งดัง เมื่อปี 2556 ในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็น เสียงสนทนาของชายที่เสียงคล้ายพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม (ในขณะนั้น) กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่หนีคดีของไทย ซึ่งเป็นพี่ชายของน.ส.ยิ่งลักษณ์
ช่วงหนึ่งในคลิปถั่งเช่านี้ มีการพูดถึงคนชื่อ “มิน อ่อง หล่าย” ว่า “…เรื่องของพม่า ผมบอกกับนายกฯไปแล้วนะครับบอกว่า ใช้ “ผบ.สูงสุด” ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเลย เพราะ “ไอ้มิน อ่อง หล่าย” ซึ่งเป็นผบ.สูงสุดของพม่า มันเป็นมือหนึ่งของท่านประธานาธิบดีเต็งเส่งเลย แล้ว “เต็งเส่ง” ให้ความเกรงใจมากที่สุด และทีนี้ “ไอ้ผบ.สูงสุด” เขากับ “ผบ.สูงสุดไทย” นี่ มันมาเป็นเคาน์เตอร์พาร์ตกัน ผลัดกันกินข้าวคนละเดือน คนละเดือน เพราะฉะนั้นถ้าจะบีบอะไรเรื่อง “ทวาย” นายกฯเรียกผบ.สูงสุดมาใช้ได้อีกงานหนึ่ง เป็นงานต่างประเทศ“
ชายที่เสียงคล้ายนายทักษิณ กล่าวตอบหลายประโยคที่สะท้อนถึงความแนบแน่นว่า “ผมก็ไปสงกรานต์กับมัน กับไอ้เนี่ย ผบ.สูงสุด … พวกผมทั้งนั้นแหละ มันยกที่ให้ผมแปลงนึง ใจกลางเมืองย่างกุ้ง”
ชายที่เสียงคล้ายพล.อ.ศศิประภา ตอบว่า “ไอ้นี่ต้องเอาไว้นะครับ ถ้าได้ พม่านี่เสร็จเราหมดเลย ต้องเอาให้ได้ … ไอ้มิน อ่อง หล่าย และไอ้รัฐมนตรีกีฬากับโฮเต็ลอีกคนหนึ่ง ไอ้นี่ก็มหาศาลเหมือนกันนะ ผมจะเรียกให้มาพบท่าน มันสร้างทำเนียบรัฐบาลให้ประธานาธิบดี มันสร้างรัฐสภาให้ ขณะนี้มันกำลังสร้าง Sport Complex ให้ มันรวยมหาศาลเลย เจ้าของบ่อหยก”
อีกด้านหนึ่ง เพจ Dr.X ได้แฉถึงสายสัมพันธ์ระหว่างพล.อ.มิน อ่อง หล่าย กับ นายทักษิณ ชินวัตร โดยอธิบายว่า…”ย้อนดูข่าวช่วงปี 2556 พบว่า นายทักษิณเดินทางเข้าพม่า 2 ครั้ง ครั้งแรก…เดือนมีนาคม 2556 และ ช่วงสงกรานต์ปี 2556 โดยในเดือนมีนาคม 2556 สำนักข่าวประเทศพม่า Eleven media group รายงานว่า นายทักษิณเดินทางไปที่เมืองทวายเพื่อเข้าดูท่าเรือของโครงการทวาย ขณะที่ในช่วงสงกรานต์ ปี 2556 นายทักษิณก็เดินทางไปยังเมืองเมย์เมียว โดยพบกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ที่บ้านพักหรูเชิงเขาในเขตมัณฑะเลย์ และปี 2557 ก่อนการรัฐประหารในไทย นายทักษิณก็ปรากฏตัวที่เมียนมาอีกครั้ง ข่าวว่าไปทำบุญแก้กรรม โดยเข้าพักที่ชั้น 10 โรงแรมชาเทรียม ในย่างกุ้ง แล้วแกนนำพรรคเพื่อไทย, รัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และข้าราชการระดับสูง แห่ไปพบกันเพียบ”
ทั้งนี้หากจับปรากฏการณ์ดังกล่าวจะพบว่า สายสัมพันธ์ของทั้งพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯผู้หนีคดีของไทยนั้น พบว่า หลังเดือนมีนาคม 2556 ที่นายทักษิณเดินทางไปดูโครงการท่าเรือทวาย และช่วงสงกรานต์ 2556 ที่มีการเจรจาลับกันที่บ้านพักหรู เชิงเขาในเขตมัณฑะเลย์นั้น จากปากคำของนายทักษิณ ยอมรับเองว่า มีการยกที่ดินใจกลางเมืองย่างกุ้งให้ตนเอง ขณะเดียวกันมีการวิจารณ์กันด้วยว่า หลังเหตุการณ์ดังกล่าว คาดว่านายทักษิณจะมีบ่อน้ำมันในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย สมความตั้งใจที่ต้องการได้สิทธิมานาน
สำหรับโครงการลงทุนในทวายนั้น ตั้งอยู่ทางตอนใต้ประเทศเมียนมาร์ และอยู่ทางตะวันตกจากกรุงเทพฯ โดยมีระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้ให้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ของโครงการทวายแก่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งเป็น 6 เขตอุตสาหกรรม ได้แก่ เขตที่อยู่อาศัย เขตการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องภายในนิคมอุตสาหกรรม ถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไปสู่ประเทศไทย รวมไปถึง น้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์
ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดทวายประมาณ 28 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในตอนเหนือของอ่าวเมืองมะกัน มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถนนเชื่อมโยงจากทวายไปยังประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง ทำให้โครงการนี้ได้รับการเสนอให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค
ทั้งนี้จะเห็นว่า นายทักษิณพยายามสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับเมียนมามาโดยตลอด โดยเมื่อครั้งตัวเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งในเวลาต่อมา นายทักษิณถูกศาลตัดสินพิพากษา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ให้จำคุก 3 ปี