ปัจจุบันธุรกิจการผลิต “ลูกพันธุ์ปลานิล” มีแนวโน้มในการแข่งขันกันสูงขึ้น ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและนำข้อมูลที่สามารถจัดหาได้มาใช้ประโยชน์ในการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมที่มีลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ (ความต้านทานโรค การเจริญเติบโต อัตรารอดชีวิต) ของปลานิลแต่ละตัว เพื่อให้ได้ปลานิลที่มีคุณสมบัติหรือความสามารถทางพันธุกรรมดี สร้างผลตอบแทนหรือกำไรให้กับผู้เลี้ยงได้มาก
ปลานิล เป็นสัตว์น้ำจืดที่ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรผู้เลี้ยงมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 ในปี 2561 ประเทศไทยมีผลผลิตปลานิลในภาพรวม 216,600 ตัน (มูลค่า 10,141 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 51 ของผลผลิตสัตว์น้ำจืดทั้งหมดของประเทศ (สถิติการประมง, 2561) ผลผลิตปลานิลที่ผลิตได้ในประเทศไทยถูกส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน (37%) ตะวันออกกลาง (27.4%) ยุโรป (16.9%) อเมริกา (16.1%) และอื่น ๆ (5.1%) ในปีดังกล่าว ลูกพันธุ์ปลานิลถูกใช้ในการเริ่มต้นการผลิตประมาณ 1,155.2 ล้านตัว
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศสนใจและริเริ่มโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเพาะเลี้ยงปลานิลจำนวนมาก ตลาดของปลานิล มีมูลค่ามากกว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 และคาดว่าจะสูงถึง 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐภาย ในปี 2568 โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (Compound annual growth rate) 5.5% ตลาดส่วนใหญ่ ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียแปซิฟิก และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพันธุกรรมและการปรับปรุงพันธุ์ โอกาสในการแข่งขันการผลิตและการตลาดจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นมากในอนาคตอันใกล้ การเตรียมความพร้อมในการแข่งขันในระดับสากลและรักษาตลาดปลานิลเดิมจึงท้าทายความสามารถในการผลิตและการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการและรัฐบาลไทย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจและตลาดผลิตภัณฑ์ปลานิลในภาพรวมบ้าง แต่ความต้องการ “ลูกพันธุ์ปลานิล (พันธุกรรมปลานิล)” สำหรับธุรกิจการเพาะเลี้ยงหรือการขุนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มมากขึ้นเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ คลายตัวลง โดยเฉพาะความต้องการใช้ประโยชน์จากลูกพันธุ์ปลานิลที่มีลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ (เช่น อัตรารอดชีวิต การเจริญเติบโต รูปร่าง เป็นต้น) โดดเด่น ในเรื่องนี้ผู้ผลิตพันธุ์หรือพัฒนาพันธุกรรมปลานิล ตลอดจนผู้ให้บริการที่ปรึกษาเชิงธุรกิจ ต่างให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมสมัยและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนม (ข้อมูลดิจิทัล) ซึ่งจัดเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจในการผลิต “ลูกพันธุ์ปลานิล” ที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย
อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลาย ความสัมพันธ์ การแสดงออก และการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของปลานิลที่มีความจำเพาะกับประชากร การพัฒนาเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนมจึงมี “ความจำเพาะกับประชากร” ซึ่งในเชิงการแข่งขัน หรือการให้บริการทางธุรกิจข้อมูลและรายละเอียดส่วนใหญ่จึงไม่ถูกเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ ด้วยเหตุนี้ “การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากข้อมูล (พันธุกรรมจีโนม และข้อมูลอื่น ๆ)” นอกจากจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในการผลิต “ลูกพันธุ์ปลานิล” (ผู้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยี) ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยให้ผู้เลี้ยงหรือผู้ขุนปลานิลทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ (กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย) มีโอกาสใช้ประโยชน์จาก “ลูกพันธุ์ปลานิล” ในการเพิ่มผลกำไร จากการแข่งขันทางธุรกิจในการผลิตปลานิลเต็มวัยที่มีคุณสมบัติดี และตรงต่อความต้องการของตลาด ผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการผลิตปลานิลไทยในภาพรวมต่อไป
เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการ บพข. พร้อมคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจปลานิลไทย” ณ บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด จังหวัดเพชรบุรี โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนม (Genomic evaluation; GEBV) และการคัดเลือกจีโนม (Genomic Selection) สำหรับปรับปรุงลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของปลานิลไทยให้มีความแม่นยำสูง เพื่อประกอบการทำนายและประมาณค่า สนับสนุนการตัดสินใจในการคัดเลือกปลานิลพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ สำหรับใช้ในการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยจากมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ และบริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด (ผู้ร่วมลงทุน) โดยมี รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก บพข. ในแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม
รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ หัวหน้าทีมวิจัย ได้อธิบายถึงเทคโนโลยีในการคัดเลือกพันธุ์ปลานิลว่า “ที่ผ่านมาการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลานิล ผู้ประการส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดั้งเดิม ที่ใช้เทคนิคการทำนายค่าเชิงเส้นตรงที่เรียกว่า Best linear unbiased prediction (BLUP) ซึ่งอาศัยข้อมูลพันธุ์ประวัติและลักษณะที่ปรากฏของปลานิลแต่ละตัวที่ถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางพันธุ์ศาสตร์และวิทยาโมเลกุล ทำให้เราสามารถกำหนดรายละเอียดทางพันธุกรรม (Genotyping) ในระดับจีโนมได้ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าในอดีต ซึ่งในงานนี้เราได้นำข้อมูลทางพันธุกรรมในระดับจีโนมของปลานิลแต่ละตัวมาใช้ประโยชน์ร่วมกับข้อมูลพันธุ์ประวัติและลักษณะที่ปรากฏ ในการจำแนกความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลานิล การประเมินและทดสอบคุณค่าของพันธุกรรมจีโนมแต่ละตำแหน่งที่ให้ลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และการนำพันธุกรรมจีโนมที่มีคุณค่าเหล่านั้นไปพัฒนาโมเดลทางพันธุกรรม (Genomic animal model) โดยเราได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการจัดเก็บ บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมาก เช่น ข้อมูลพันธุ์ประวัติ ข้อมูลลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ข้อมูลพันธุกรรมจีโนม ข้อมูลการจัดการและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลอื่น ๆ ของปลานิลแต่ละตัว เพื่อให้สามารถทำนายและประมาณความสามารถทางพันธุกรรม (จีโนม) ได้อย่างแม่นยำ สนับสนุนการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจให้มีความโดดเด่น ได้รับความสนใจใช้ประโยชน์จากลูกพันธุ์ปลานิลและช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล”
ความท้าทายที่สำคัญในการผลิตปลานิล คือ ปัญหาการขาดแคลน “ปลานิลที่มีคุณสมบัติทางพันธุกรรมดี (เช่น โตเร็ว อัตรารอดสูง ต้านทานโรค ซากดี)” ซึ่งผู้ประกอบการมักผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์ของเกษตรกร (ผู้ใช้ประโยชน์จากลูกพันธุ์ปลานิล) นอกจากนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ผู้ผลิตพันธุกรรมปลานิลและบริษัทที่ปรึกษาต่างเร่งพัฒนาเทคนิคในการปรับปรุงพันธุกรรมของปลานิลให้มีคุณสมบัติโดดเด่น เพื่อการแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดและการเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขในการผลิตระดับสากล ในเรื่องนี้ หากผู้ผลิตพันธุกรรมปลานิลในประเทศไทยไม่เร่งพัฒนาเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมากในการตัดสินใจที่แม่นยำในการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของปลานิล ให้มีความสามารถทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจโดดเด่นกว่า หรือ ทัดเทียมกับคู่แข่งในตลาดสากลได้อย่างทันกาล อาจเสียโอกาสในการแข่งขันและเป็นรองทางธุรกิจ และต้องซื้อพันธุกรรมที่มีราคาแพงมาใช้ประโยชน์อย่างมีเงื่อนไข ดังที่ปรากฏในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกเชิงการค้า
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการ บพข. ได้กล่าวถึงมุมมองในการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ในโครงการนี้ว่า “บพข. มองว่าโครงการนี้เป็นการพัฒนานวัตกรรมข้อมูลสำหรับ BCG ด้านเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร เพื่อเพิ่มความสามรถแข่งขันของธุรกิจปลานิลไทย ที่จะถูกนำไปใช้จริงเชิงปฏิบัติในอุตสาหกรรมการผลิต“ลูกพันธุ์ปลานิล” และสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นของไทย และด้วยรูปแบบการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนมได้รับความสนใจและใช้ประโยชน์โดยคู่แข่งทางธุรกิจในประเทศอื่นเช่นกัน การพลาดโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้ อาจมีส่วนทำให้การแข่งขันของธุรกิจปลานิลไทยมีอุปสรรคและความท้าทายมากยิ่งขึ้น”
ในโครงการนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล ถูกนำมาพัฒนาให้มีบทบาทสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ สะสม บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุ์ประวัติ (pedigree data) ลักษณะปรากฏ (phenotypic data) และ รายละเอียดทางพันธุกรรมในระดับจีโนม (genomic data, SNPs) ตลอดจนการจัดการ สภาพแวดล้อม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการฟาร์มและการแข่งขันทางธุรกิจ (2) การเพิ่มความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลอำนวยความสะดวกในการทดสอบสมมติฐานที่เป็นประโยชน์ ต่อการสร้างความเข้าใจในสถานการณ์และสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ผลิต (3) การเพิ่มความแม่นยำ (Accuracy) และ ความน่าเชื่อถือ (Reliability) ในการประมาณหรือทำนายค่าที่เกี่ยวข้องกับสมมติฐานที่สนใจ เช่น การประมาณองค์ประกอบของความผันแปรสำหรับลักษณะที่สนใจ (Variance component estimation) การประเมินหรือทำนายความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมสำหรับลักษณะที่สนใจ (Genomic evaluation) การประเมินผลสัมฤทธิ์หรือความก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์ (Genetic progress) การประเมินผลตอบสนองต่อการคัดเลือกพันธุ์ (Selection response) เป็นต้น (4) การลดความลำเอียงในการเปรียบเทียบและพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ระหว่างปลานิลต่างรุ่นที่ได้รับการจัดการแตกต่างกัน ซี่งจะเป็นประโยชน์ต่อ (5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตลูกพันธุ์ปลานิล และศักยภาพในการแข่งขันเชิงการค้า
ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. กล่าวเสริมว่า “ข้อมูลมีบทบาทสำคัญต่อความแม่นยำในการตัดสินใจและสนับสนุนความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ การจัดการบริหารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผลและช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้ โครงการนี้ บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาช่วยในการจัดเก็บและบริหารข้อมูลข้อมูลที่นักวิจัยเก็บรวบรวมจากปลานิลซึ่งมีจำนวนมหาศาล เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ ประเมิน กำหนดลำดับพันธุกรรม DNA ที่สมบูรณ์ของจีโนม กำหนดรายละเอียดทางพันธุกรรมของปลานิลไทย เพื่อให้การจัดการทางพันธุกรรมปลานิลไทยมีประสิทธิภาพสูงสุด และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจปลานิไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมจีโนม”
หากโครงการนี้สำเร็จจะส่งผลให้ ผู้ประกอบการ “ลูกพันธุ์ปลานิลไทย” มีขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจปลานิลเพิ่มขึ้นได้ โดยสามารถพัฒนาพันธุกรรมปลานิล (ลูกพันธุ์ปลานิลไทย) ให้มีลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ของลูกค้า (ผู้ซื้อ) ได้รวดเร็ว สม่ำเสมอ และทันกาลมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างความพึงพอใจ ความมั่นใจ ความเชื่อมั่น และความรู้สึกคุ้มค่าของลูกค้า (ผู้ซื้อ) ในคุณสมบัติของพันธุกรรมปลานิล (ลูกพันธุ์ปลานิลไทย) ที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีร่วมสมัยโดยผู้ประกอบการมากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาบุคลากร ข้อมูล ระบบ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม เข้ากันได้กับเงื่อนไข ข้อจำกัด และความจำเพาะกับปัจจัยการบริหารจัดการผลิตของตน และใช้ประโยชน์ในเชิงการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถสะสมข้อมูลดิจิทัล (จากปลานิล พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ การจัดการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถนำข้อมูลดิจิทัลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ศักยภาพทางพันธุกรรม และความสามารถในการแข่งขันได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน