นับถอยหลังเตรียม “ยุบสภา” เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งช่วงเวลาที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะยุบสภาช่วงใด จุดสำคัญก็คือฝ่าย “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ต้องมีความพร้อมมากที่สุด โดยเฉพาะการมีระเบียบ-ประกาศ ข้อกฎหมายรองรับการทำงาน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดประชุมสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อรับฟังความคิดเห็นการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566”
ที่ก็คือ หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดประชุมสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อรับฟังความคิดเห็นการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ “ไพรมารีโหวต” นั่นเอง
นอกจากนี้ วันเดียวกัน ยังมีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง “การจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พ.ศ. 2566”
โดยประกาศทั้งสองฉบับของกกต.หลักๆ เลยคือ ออกมาเพื่อรองรับการเลือกตั้งให้กับพรรคการเมือง ในเรื่องการทำไพรมารีโหวต ที่กฎหมายพรรคการเมืองให้ใช้ระบบการทำไพรมารีโหวตระดับจังหวัด ไม่ต้องทำทุกเขต
ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง “จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรก ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564” และ “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566”
ที่เป็นการออกประกาศเรื่องระเบียบต่างๆ ในการจัดเลือกตั้งของกกต. และประกาศเรื่องการให้ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด ไปจัดทำ “รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง” ในพื้นที่เลือกตั้งของแต่ละจังหวัด อย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็น แล้วสรุปเสนอมายังกกต.กลาง เพื่อให้กกต.พิจารณาออกประกาศ “การแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศ 400 เขต” ต่อไป ซึ่งหาก กกต.มีการประกาศดังกล่าว ก็จะทำให้ สามารถ “ยุบสภา” ได้ทันที
โดยที่ก็ไม่ผิดความคาดหมาย ที่ต่อมาเมื่อ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือ “กกต.จังหวัด” ได้ดำเนินการตามประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ด้วยการเผยแพร่-ประกาศ “พิมพ์เขียวรูปแบบการเลือกตั้ง” ในพื้นที่ของตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่ ศุกร์ที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่า ไม่ทันข้ามวันดี ก็มีจังหวัดต่างๆ เริ่มเผยแพร่ “รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง” ภายในจังหวัด-พื้นที่เลือกตั้งของตัวเอง
ก็เลยมี “ทัวร์ลง-ก้อนอิฐตามมา” ทันที ก่อนที่จะเริ่มมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน-พรรคการเมือง อย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 4 ก.พ.เสียด้วยซ้ำ
อย่างการแบ่งเขตเลือกตั้ง ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด กรุงเทพมหานคร ที่เผยแพร่รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำไว้ 5 รูปแบบ จากที่กฎหมายและประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งบอกว่า ให้ทำไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ แต่ “กกต.กทม.” ก็ทำมา 5 รูปแบบ เพื่อรองรับการที่กรุงเทพฯ มีจำนวนส.ส.และเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมา 3 เขต คือมี 33 เขต จากเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562 มี 30 เขต
ที่ก็ปรากฏว่า มีเสียงสะท้อนออกมาในเชิงทักท้วงการจัดรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวของ “สำนักงาน กกต. กรุงเทพมหานคร” ออกมาทันที
อาทิความเห็นของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตกกต. ที่ให้ความเห็นโดยสรุปว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. 33 เขตเลือกตั้ง จำนวน 5 รูปแบบของ “กกต.กทม.” เมื่อพิจารณาดูเนื้อในของทั้ง 5 รูปแบบ พบว่า กกต.กทม.จะใช้การรวมพื้นที่ระดับเขตเป็นหลัก ไม่ค่อยมีการฉีกบางแขวงออก ทำให้จำนวนความแตกต่างของราษฎรระหว่างเขต แตกต่างกันมหาศาล มีผลต่างจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อส.ส.หนึ่งคน คิดเป็นร้อยละ เกินกว่าที่จะรับได้
“สรุปทั้ง 5 แบบที่นำเสนอ มีราษฎรแตกต่างระหว่างเขตสูงสุด กับเขตน้อยสุด ตั้งแต่ 85,167 ถึง 98,387 คน จากค่าเฉลี่ยที่มี คือ 166,513 คน แบ่งแบบนี้จะไหวหรือครับ ฝากท่าน กกต.กลาง ที่มีความรู้ด้านสถิติดีช่วยแนะนำด้วย แก้ใหม่ยังทันครับ”
หรือความเห็นของ “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่บอกว่า ได้เห็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร ที่แบ่งออกมา 5 แบบ แต่เท่าที่ดูในรายละเอียดทั้ง 5 แบบ พบว่า มีค่าความเบี่ยงเบนของจำนวนประชากรค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับค่ากลาง 1.65 แสนคน ยกตัวอย่าง บางเขตมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1.2 แสนคน หรือ 1.3 แสนคน หรือบางเขตทะลุ 2 แสนคนไปเลย อย่างไรก็ตาม เรายังไม่สามารถคาดเดาว่า สุดท้ายแล้วจะใช้ 1 ใน 5 แบบที่กำหนดมาหรืออาจจะมีแบบที่ 6 ก็ได้
อันนี้แค่ นำร่อง เพราะในช่วงการรับฟังความคิดเห็นสิบวัน คาดว่าจะมีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ จากพรรคการเมือง คนที่จะลงสมัครส.ส.เขต ในแต่ละจังหวัดออกมาอีกมาก ทำให้ กกต.จังหวัด ก็เตรียมรับ ทัวร์ลง-ก้อนอิฐ กันให้ดี
สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นดังกล่าว อย่างเช่น ในพื้นที่กทม. ที่ใช้เวลา 10 วันตั้งแต่ 4 ก.พ.ไปจนถึง 13 ก.พ. จากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร จะได้รวบรวมความเห็นทั้งหมดโดยใช้เวลา 3 วัน แล้วก็ส่งความเห็นและข้อสรุปของกกต.-กทม.ไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.กลาง เพื่อให้กกต.พิจารณาและเคาะออกมาว่า ในพื้นที่กทม.ควรแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใด ควบคู่ไปกับการพิจารณาการแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดต่างก็ใช้กระบวนการและรูปแบบการแบ่งเขตที่ใกล้เคียงกันหมด คือต้องรับฟังความเห็น 10 วัน และมีเวลาประมวลสรุปและทำความเห็นส่งไปยังกกต.กลางเพื่อให้ กกต.กลางชี้ขาดและนำไปประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศต่อไป
โดยกระบวนการดังกล่าว กกต.บอกแล้วว่า จะเร่งทำให้เร็วที่สุด ช้าสุดก็ไม่เกิน 28 ก.พ. และพอประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว อาจต้องเผื่อเวลาไว้อีกประมาณ 15 วัน ในการให้พรรคการเมืองมีเวลาในการทำไพรมารีโหวตส่งคนลงเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ ซึ่งตอนนี้หลายพรรคการเมือง ก็ยังไม่ได้ทำ เพราะบางจังหวัด บางพื้นที่เลือกตั้ง ก็ยังฝุ่นตลบอยู่ ยังไม่นิ่ง เพราะบางพรรคการเมือง ก็รอให้ส.ส.หรืออดีตผู้สมัครส.ส.จากพรรคอื่นย้ายเข้ามา หลังสภาฯปิดสมัยประชุม 28 ก.พ. จึงทำให้ยังไม่ได้ทำไพรมารีโหวตเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าว จริงๆ ก็ไม่ได้ยุ่งยากและทำได้เร็ว เพราะกฎหมายพรรคการเมือง เปิดทางให้ทำไพรมารีโหวตได้ในระดับจังหวัดแล้ว ไม่ต้องทำทุกเขต เช่น “นครราชสีมา” แต่ละพรรคที่จะส่งคนลงเลือกตั้ง ก็แค่เรียกประชุมสมาชิกพรรคในนครราชสีมา แล้วก็โหวตเห็นชอบรายชื่อคนที่พรรคจะส่งลงเลือกตั้ง ทั้งจังหวัด ทุกเขต ตามที่พรรคส่งชื่อมาให้รู้ล่วงหน้า ซึ่งขั้นตอนนี้ ใช้เวลาทำแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เตรียมการจริงๆ ก็แค่ 1-3 วันก็เรียบร้อย
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ทาง กกต.ก็คงส่งสัญญาณการเมืองไปยังรัฐบาล ว่ากลไกรองรับการทำงานของกกต.ในการจัดการเลือกตั้ง และดูแลการเลือกตั้งให้ผ่านไปโดยเรียบร้อยครบหมดแล้ว จากนั้นก็เป็นการตัดสินใจทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาช่วงไหน
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า อาจจะยุบสภา 9 มี.ค.2566 เพราะเป็นวันที่เลขสวย อย่างตอนพล.อ.ประยุทธ์ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ใช้วันที่ 9 ม.ค.2566 หรือไม่ก็อาจเป็น 15 มีนาคม 2566 กลางเดือนหน้าพอดี
แต่ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาวันไหน ในทางการเมือง ชัดแล้วว่า รัฐบาลต้องการให้มีการเลือกตั้งช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์
……………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”