ถอดรหัส “หมอหยุดงานประท้วงได้หรอ?” หลัง “หมอเมียนมานัดหยุดงานประท้วงการรัฐประหาร” ชี้ถ้าไม่นับเรื่องจริยธรรมแล้ว การนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์ จะส่งผลกับอะไรบ้าง ?
จากกรณีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านการแพทย์ 70 แห่ง ใน 30 เมืองทั่วประเทศเมียนมา นัดหยุดงานพร้อมกันในวันที่ 3 ก.พ.64 เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการทำรัฐประหาร และการควบคุมตัวนางซูจีไว้โดยไม่ชอบธรรม โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ออกแถลงการณ์ระบุว่า “กองทัพเอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเองอยู่เหนือความยากลำบากของประชาชนที่จะต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยทุกวันนี้ไวรัสมรณะได้คร่าชีวิตประชาชนในเมียนมาไปแล้วกว่า 3,100 คน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางกลุ่มจะไม่ขอเชื่อฟังคำสั่งใดๆ จากกองทัพที่ขึ้นมายึดอำนาจปกครอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆ ต่อคนไข้ที่น่าสงสารเลย”
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เพจ “นิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตย” ได้อธิบายเรื่อง “หมอหยุดงานประท้วงได้หรอ?” มีเนื้อหาว่า…”นับตั้งแต่รัฐบาลอองซานซูจีในประเทศพม่าถูกกองทัพรัฐประหารไปในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา ได้มีชาวพม่าจำนวนมากออกมาจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการเหยียดหยามอำนาจของประชาชน ทั้งชาวเมืองย่างกุ้งออกมาเคาะหม้อและไหเป็นเสียงดัง การจัดการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ การแสดงออกด้วยสัญลักษณ์โบว์สีแดงกลับด้านและการ “ชูสามนิ้ว” แต่ในบรรดาการเคลื่อนไหวและการดื้อแพ่งของชาวพม่าในรอบนี้ การนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์ใน 70 โรงพยาบาลดูจะเป็นที่พูดถึงและนำให้ประเด็นค้างคาใจหลาย ๆ คนว่า “หมอนัดหยุดงานประท้วงได้หรอ” กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
ประเด็นการนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์ (“doctors’ strike”) เป็นประเด็นที่ถกเถียงมายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อมองในมุมของจริยธรรมแพทย์ ระหว่างการต้องรักษาผู้ป่วยตรงหน้า กับการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่า (greater goods) ของส่วนรวม รวมถึงการเหมือนเอาชีวิตผู้ป่วยไปเป็นตัวประกันเพื่อเรียกร้องทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อจริยธรรมหรือไม่ แต่วันนี้เราจะขอพาไปดูมุมมองเชิงสถิติของการนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์กัน ว่า ถ้าไม่นับเรื่องจริยธรรมแล้ว การนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์มันจะส่งผลอะไรต่อผู้ป่วยบ้าง
นิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตยจึงขอพาทุกคนมาอ่านบทความ “What are the consequences when doctors strike?” (การนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์ส่งผลอะไรบ้าง?) โดย David Metcalfe จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และคณะ ตีพิมพ์ใน BMJ เมื่อปี 2015
อันดับแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่าการประท้วงหยุดงาน (“strike”) ส่วนใหญ่ที่ได้ผล เป็นผลจากการทำร้ายบุคคลที่สาม (ซึ่งเป็นกลางในสถานการณ์นี้) ให้คนกลุ่มนี้ไปเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงตามคำขอของผู้ประท้วง ในกรณีที่เป็นแรงงานนั้น บุคคลที่สามในที่นี้คือลูกค้า แต่ในกรณีที่เป็นแพทย์ บุคคลที่สามคือผู้ป่วย และการทำร้ายผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ขัดกับจริยธรรมพื้นฐานของแพทย์ การขัดกันระหว่างประเด็นต่าง ๆ ทั้งทางจริยธรรม สังคม และสิทธิมนุษยชนนี้ทำให้การประท้วงหยุดงานของแพทย์เป็นเรื่องที่ยังคงถกเถียงถึงปัจจุบัน แต่กระนั้น หลายประเทศทั่วโลกก็มีการประท้วงหยุดงานเช่นนี้เกิดขึ้นมาตลอด ๆ อย่างในปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่แพทย์นัดหยุดงานประท้วงการบริหารจัดการโรคระบาดโควิด-19 ที่ล้มเหลวหรือไร้ประสิทธิภาพ ทั้งในฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย และเกาหลีใต้
แล้วแบบนี้ผู้ป่วยจะต้องตายเพราะหมอไปประท้วงกันหมดแน่ ๆ
ผิด ผิดถนัด
จากการศึกษาหลายชิ้นที่เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิต (fatality rate) ขณะที่แพทย์ประท้วงหยุดงานกับขณะที่แพทย์ทำงานกันปกติ จากการประท้วงแบบนี้ทั่วโลก พบว่าตอนที่แพทย์หายตัวไปจากโงพยาบาลกันนั้น กลับอัตราการเสียชีวิตกลับไม่เปลี่ยนแปลง และในบางครั้งต่ำลงด้วยซ้ำ
ทำไมกัน ?
ถึงแม้จะยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนว่าทำไมจู่ ๆ คนตายน้อยลงทั้ง ๆ ที่หมอหายไปจากโรงพยาบาล และเป็นเหมือนกันทั่วโลก ในบรรดาคำอธิบายเหล่านี้ดูจะมีความเห็นตรงกันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน (emergency care) ยังคงเปิดให้บริการตามปกติที่อัตราเท่าเดิม ทำให้การรักษาผู้ป่วยวิกฤติหรือฉุกเฉินไม่ได้รับผลกระทบ อันทำให้ยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย
แล้วทำไมบางครั้งยอดเสียชีวิตมันลดลงล่ะ ? หรือว่าพอคนไม่ไปโรงพยาบาล = คนตายน้อยลง ?
ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนขนาดนั้น แต่พบว่า การนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์นั้น บริการทางการแพทย์ส่วนที่ถูกปิดไปคือส่วนที่ไม่เร่งด่วน เช่นการให้คำปรึกษาต่าง ๆ ส่วนที่รักษาโรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต และการผ่าตัดชนิดที่ไม่เร่งด่วน (elective surgery หรือคือพวกผ่าตัดที่ต้อง “นัดผ่า” น่ะแหละ) จึง “อาจ” เป็นไปได้ว่าบริการทางการแพทย์กลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม elective surgery นี่แหละ ที่เป็นตัวเพิ่มอัตราการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ยังเป็นที่ถกเถียง และยังไม่มีการยืนยันด้วยงานศึกษาที่มีกรณีครอบคลุมและชัดเจนพอ หลายบทความที่เราอ่านมาจึงใช้คำว่า “เชื่อว่า” “อาจจะ” เป็นเช่นนั้นแทน
ส่วนคำอธิบายอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ เช่น แพทย์หยุดงานแล้วได้พักผ่อนเพียงพอ ส่งผลให้ (ถ้า) มารักษาผู้ป่วย ก็มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น และอีกกรณีที่พบว่า อาจเป็นเพราะในแผนกฉุกเฉินนั้น โรงพยาบาลจะจัดสรรแพทย์ (ซึ่งอาวุโส มากด้วยประสบการณ์การรักษา) มาแทนที่แพทย์อายุน้อย ๆ (ซึ่งมีแนวโน้มจะเข้าร่วมในการประท้วงและเรียกร้องมากกว่าอยู่แล้ว) ที่หยุดงานประท้วงกัน
แบบนี้ การนัดประท้วงหยุดงานของหมอมันจะส่งผลกับอะไร ?
แน่ ๆ คือ ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีนัดแพทย์ไว้จะมีการยกเลิกนัดกันสูงขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์ในภาพรวมแล้ว ก็ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีก ทั้งจำนวนแพทย์ที่เข้าร่วม จำนวนโรงพยาบาลที่ยังเปิดให้บริการ ความแข็งแรงของระบบสาธารณสุขและการส่งต่อผู้ป่วยของรัฐนั้น ๆ เป็นทุนเดิม เป็นต้น
จากเมื่อกี้ที่เรารู้ว่ามีแพทย์อาวุโสมาทดแทนแพทย์รุ่นใหม่ที่หยุดงานประท้วงกัน ในบางกรณีพบว่าทำให้เวลารอพบแพทย์ในแผนกฉุกเฉินลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วยซ้ำ ในงานศึกษาชิ้นหนึ่งถึงกับพบว่าขณะแพทย์ (รุ่นใหม่) นัดหยุดงานประท้วงกัน แพทย์อาวุโสสามารถรักษาผู้ป่วยได้สองราย ต่อแพทย์รุ่นใหม่ที่รักษาผู้ป่วยได้หนึ่งราย (ยิ่งอาวุโส ยิ่งเก๋าด้วยประสบการณ์จริง ๆ แฮะ)
ถ้ามันดีขนาดนี้ ทำไมไม่เอาแพทย์อาวุโสมาทดแทนแพทย์รุ่นใหม่ในแผนกฉุกเฉินให้หมดเลยล่ะ
ความเป็นจริงคือ แพทย์อาวุโสที่จัดโยกย้ายมาแผนกฉุกเฉินนี้ ก็ไม่ได้มาจากแพทย์เกษียณหรอก ก็มาจากแผนกอื่น ๆ ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มที่ในยามปกติจะให้บริการกลุ่ม elective surgery น่ะแหละ นี่คือราคาที่ต้องจ่าย แลกกันกับแผนกฉุกเฉินที่ปังขึ้นมากในทางสถิติ และอีกอย่าง ถ้าคุณไม่เทรนแพทย์รุ่นใหม่ให้เป็นแพทย์รุ่นเก๋า แล้วจะหาแพทย์ที่ไหนมาทดแทนรุ่นเก๋าที่อีกไม่นานก็เกษียณอายุกันไปเล่า (-*-)
ในเมื่อการนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์ดูจะไม่ได้ทำร้ายผู้ป่วยขนาดนั้น ทำไมมันถึงยังมีประสิทธิภาพที่จะกดดันข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้ล่ะ
ทุกอย่างมันเกิดจากการรับรู้ (perception) ของสาธารณะต่อการประท้วงหยุดงานของแพทย์ว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก พอมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นปุ๊ป ข่าวทุกสำนักต้องออกข่าว คนแห่กันแชร์เรื่องพวกนี้กันทันที เพราะเราล้วนรับรู้ว่ามันเป็น “เรื่องใหญ่” และเป็น “อันตรายร้ายแรง”
นอกจากนี้ การนัดประท้วงหยุดงานของแพทย์ยังก่อให้เกิดการสูญเสียผลกำไรของโรงพยาบาล (คือระดับผู้บริหารและหุ้นส่วนโรงพยาบาลเป็นผู้ถูกกระทำ), แรงกดดันที่มากขึ้นของสังคมต่อกรณีที่ประท้วงดังที่กล่าวมาข้างต้น และถึงแม้จะไม่ทำให้คนตายมากขึ้น แต่การเข้ารับการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์ก็จะเป็นไปได้อย่างยากลำบากกว่าที่เคย (ไม่แย่แต่ก็ไม่ดี ว่างั้นเถอะ)
สำหรับใครที่อยากอ่านบทความที่ตีพิมพ์บน BMJ ชิ้นนี้ ก็สามารถไปอ่านฟรีกันได้ที่ David Metcalfe, Ritam Chowdhury, Ali Salim. What are the consequences when doctors strike?:. BMJ, 2015; h6231 DOI: 10.1136/bmj.h6231 เลยจ้า
ท้ายที่สุดนี้ นิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตย ขอแสดงจุดยืนเคียงข้างพี่น้องชาวพม่าที่รักประชาธิปไตย ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารและคณะรัฐประหารของพลเอกมี่นอองไลง์ ลงจากตำแหน่ง และคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนชาวพม่าทั้งปวง ได้มีผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยไว #SaveMyanmar ??
อ้างอิง:
https://www.researchgate.net/…/284729449_What_are_the…
https://www.psychologytoday.com/…/why-do-patients-stop…
https://www.sciencedaily.com/rel…/2015/11/151125233018.htm
https://www.q13fox.com/…/health-care-workers-strike…
https://www.wsj.com/…/hong-kong-hospital-workers-to…
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200811000941
https://www.straitstimes.com/…/myanmar-group-says-70…
https://www.bloomberg.com/…/myanmar-anti-coup…
https://www.bbc.com/news/world-asia-55906536