เมื่อต้นปีที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 13 ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ”นายเหงียน ฝู จ่อง” เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีเวียดนาม กล่าวต่อที่ประชุมว่า เวียดนามก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในกลางศตวรรษที่ 21
โดยมุ่งมั่นว่าในปี 2025 เวียดนามต้องการเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง เมื่อถึงปี 2030 ก็จะเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2045 ตั้งเป้าหมายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีรายได้ระดับสูงอย่างเต็มตัว
การประกาศเจตนารมณ์อย่างมั่นใจของผู้แทนระดับสูงในรัฐบาลเวียดนาม สะท้อนถึงการมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล จะเห็นได้จากก่อนหน้านี้ รัฐบาลเวียดนามได้รื้อกฏหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุนนับหมื่นๆ ฉบับอย่างเร่งด่วน ทำให้นักลงทุนที่ขออนุญาตลงทุนมีความคล่องตัวขึ้น
วิสัยทัศน์ในการก้าวสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว จะเห็นได้จากการผลักดันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์วินฟาสต์ เป็นกิจการในเครือบริษัทวินกรุ๊ป เอกชนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ ล่าสุดได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 3 รุ่นใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในปีนี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของบริษัทที่จะก้าวขึ้นเป็นค่ายรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ เวียดนามยังมีจุดแข็งที่การเมืองภายในประเทศนิ่ง รัฐบาลมีเสถียรภาพ “ผู้นำ” มีความกล้าหาญตัดสินใจรวดเร็วและเด็ดขาด” เวียดนามจึงได้รับคำชมจากทั่วโลกในการแก้ปัญหาโควิด-19 ได้รวดเร็วอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ประชาชนและนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น
ที่สำคัญความสำเร็จของเวียดนามมาจากยุทธศาสตร์การบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “ห่วงโซ่คุณค่าโลก” ทำให้เวียดนามเป็นแหล่งประกอบการผลิตสำคัญของโลกอีกทั้งมีนโยบายทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ ล่าสุดก็คือ ทำข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป ทำให้เวียดนามได้รับการจับตาว่าจะได้ประโยชน์จากข้อตกลง TPP มากที่สุด โดยเศรษฐกิจจะเติบโต 10% จนถึงปี 2030 เลยทีเดียว
แม้เวียดนามจะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่เศรษฐกิจและการส่งออกกลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากทั่วโลกรวมทั้งไทย ประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าส่งออก แต่ปรากฏว่าตู้คอนเทนเนอร์กลับไปกองรวมกันอยู่ที่เวียดนามจำนวนมาก เพื่อรอการส่งออก ซึ่งเวียดนามใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 13 ล้านตู้ ขณะที่ไทยมีความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 10 ล้านตู้ จะเห็นว่าการส่งออกของเวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้ว
จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมเวียดนามเนื้อหอม ใครๆ อยากไปลงทุน จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ความสำเร็จของเวียดนามในห่วงโซ่คุณค่าด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากหลายๆ ปัจจัย
ปัจจัยแรกเป็นเพราะบรรยากาศการลงทุนมั่นคงต่อเนื่อง เงินลงทุนจากต่างประเทศด้านอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่มาจาก ซัมซุง ที่ลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2008 ทุกวันนี้เวียดนามกลายเป็นเป็นประเทศส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โทรศัพท์มือถือทั้งหมดของซัมซุง ผลิตจากเวียดนาม 40%
ปัจจัยต่อมา เวียดนามมีแรงงานทักษะต่ำและค่าแรงถูกจำนวนมากแต่ได้มีการยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นคุ้มกับค่าจ้าง จึงทำให้ได้เปรียบในด้านการลงทุนการผลิตแบบ “ห่วงโซ่คุณค่าโลก” ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้
ปัจจัยสำคัญที่สุดคือเวียดนามมีความได้เปรียบในเรื่อง “ทำเล” อยู่ใกล้ประเทศที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ทำให้สะดวกที่จะนำเข้าชิ้นส่วนเหล่านี้
ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น นักลงทุนมองว่าเวียดนามเป็นประเทศมีอนาคต เป็นตลาดใหญ่ประชากรกว่า 97 ล้านคนล้วนเป็นคนหนุ่มสาวที่มีอายุเฉลี่ย 30 ปี จึงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ แรงงานหนุ่มสาวเหล่านี้มีรายได้มากพอที่จะขยับฐานะเป็น “คนชั้นกลาง” และมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเป็นวัยที่ชอบจับจ่ายใช้สอยจึงทำให้เวียดนามมีกำลังซื้อสูง
ทุกวันนี้นักลงทุนพากันหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในเวียดนามกันมากทั้งไมโครซอฟท์ และ Apple ย้ายฐานผลิต AirPods ร้อยละ 30 ประมาณ 3-4 ล้านชิ้น พานาโซนิคก็ย้ายฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มเครื่องซักผ้าและตู้เย็นจากไทยไปเวียดนามล่าสุดFoxconn ผู้ผลิต iPhone ย้ายฐานผลิตจากจีนไปเวียดนาม แถมจะลงทุนเพิ่มอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท
แต่ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้นั่นคือ ชาวเวียดนามที่อพยพไปอยู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งในยุโรปและอเมริกาส่งเงินกลับประเทศให้ญาติ ๆ ใช้จ่าย เฉลี่ยราว ๆ ปีละ5 แสนล้านบาท เป็นอีกแรงขับที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเวียดนามที่ไทยไม่มี
ดังนั้นหากพินิจพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ แล้ว ก็อย่าได้แปลกใจ…ทำไมเวียดนามเริ่มหายใจรดต้นคอไทยและพร้อมจะแซงหน้าไทยได้ทุกเวลา
………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”