ธปท.เตรียมทบทวนจีดีพีใหม่เดือนมี.ค. หลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/65 ที่สศช.ประกาศขยายตัวได้เพียง 1.4% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ เกาะติดเงินบาทหลังอ่อนค่าเร็ว หวั่นเสียความสามารถการแข่งขัน
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย ในเดือนม.ค.66 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่มูลค่าการ ส่งออก ไม่รวม ทองคำ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน
สำหรับกิจกรรมในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงบ้าง ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.66 ว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยระยะต่อไปยังต้องติดตามปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2.ผลของการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของจีน และ 3.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น
ส่วนกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสศช. รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/65 ขยายตัวได้เพียง 1.4% ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่คาดนั้น ธปท.จะนำมาใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะพิจารณาปรับประมาณการ GDP ของปี 2566 ใหม่อีกครั้งในเดือนมี.ค.
“ธปท. จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมี.ค.นี้ โดย GDP ไตรมาส 4/65 ที่สศช.รายงาน ซึ่งออกมาต่ำกว่าคาด ก็จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำมาดูด้วย แต่ในเดือนม.ค.66 ก็เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น เพราะฉะนั้น จะต้องนำข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ มาประมวลผลใหม่ในรอบเดือนมี.ค.นี้ จากเดิมคาดว่าจีดีพีปีนี้โต 3.7%”น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทเดือนก.พ.กลับข้างอ่อนค่าหลังจากที่แข็งค่าในเดือนม.ค. เนื่องจากตลาดคาดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจะยังไม่กระทบต่อมูลค่าส่งออก แต่ต้องติดตามเรื่องผลต่อความสามารถในการแข่งขัน