“เพื่อไทย” โวย กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.แบบที่ 1 สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย หวั่นเลือกตั้งโมฆะ ถามรับผิดชอบไหวไหม บี้กลับไปใช้แบบปี 54-57 เหมาะสุด
วันที่ 16 มี.ค. 2566 เวลา 11.30 น. ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม.เขตหลักสี่ พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวคัดค้านแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ของ กกต. กทม.
โดยน.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ได้เห็นประกาศจากสำนักงาน กกต. ถึง กกต. กทม. ว่าจะมีการเลือกใช้การแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต.แบบที่ 1 ซึ่งเป็นแบบที่พรรคเพื่อไทยมีความกังวลใจว่าส่อขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีควรมหวังว่า กกต. จะได้ยินเสียงการทักท้วงของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ลดละความพยายามที่จะแถลงข่าวให้เสียงดังขึ้นแต่สุดท้าย มีประกาศออกมาเลือกแบบที่ 1 จึงจำเป็นต้องส่งเสียงอีกครั้ง เพราะถือเป็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เรียกว่า Gerrymandering ที่ผู้อำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือภาคประชาชน คืนวานนี้ประชาชนร้องเรียนมาว่าได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขต เพราะพวกเขาได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเลือก ส.ส.คนนี้ ให้ไปเป็นผู้แทนให้ได้มาทำงานต่อ เพราะที่เคยร่วมงานใกล้ชิดกันมาก่อน
ทั้งนี้ หาก กกต.ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาเยลือกตั้ง และในท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะทั้งประเทศ กกต. ต้องกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. แต่ละเขตเลือกตั้งกันใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ความมีเสถียรภาพของประเทศชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณแผ่นดิน หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ หมายความว่าผู้มีอำนาจนำประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวประกันให้กับความเสียหายนี้ ใช่หรือไม่ หาก กกต. ไม่ดูดีดูดาย พิจารณาคำท้วงติงของพรรคเพื่อไทย หากเกิดอันตราย เสียหายขึ้น กกต. จะรับผิดชอบไหวหรือ ถ้าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ
“พรรคเพื่อไทยพร้อมสู้ทุกกติกาที่มีความยุติธรรม หรือที่ถูกกำหนดขึ้น พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าต่อ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ ให้พี่น้องประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง ให้นำประชาธิปไตยกลับมา และทำให้ประชาชนเห็นว่ายิ่งพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุน ได้ใช้พลังประชาชน ไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น”น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว
ด้านนายสุรชาติ กล่าวว่า การแบ่งเขตแบบที่ 1-2 จะยึดหลักตามตัวเลขประชากรที่ให้สมดุลกัน ส่วนแบบที่ 3-4 จะยึดหลักเขตปกครอง เมื่อเราไปดูที่มาตรา 27 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ “ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” และให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน” เป็นเรื่องหลักในการแบ่งเขต ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวง
นายสุรชาติ กล่าวต่อว่า ขอยกตัวอย่าง กรณีเขตเลือกตั้งที่ 9 ของเขตบางเขน 1 แขวงของเขตบางเขนจะไปรวมกันกับ 2 แขวงของเขตจตุจักร และจะมารวมกับอีก 1 แขวงของเขตหลักสี่ ซึ่งถือว่าเป็นการเอาเศษเสี้ยวของ 3 เขตการปกครองมารวมเป็นหนึ่งเขตการเลือกตั้ง หรือฝั่งธนบุรี ยกตัวอย่าง เขตที่ 32 ของ 1 แขวงบางกอกน้อย มารวมกันกับเขตบางกอกใหญ่ และมารวมกับบางแขวงภาษีเจริญ บางแขวงของเขตตลิ่งชัน บางแขวงของเขตธนบุรี ถือเป็นการแบ่งเขตที่พิลึกพิลั่น ถ้าเราไปดูตามมาตรา 27 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถือว่าเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายชัดเจน แม้วันนี้จะมีพรรคการเมืองไปยื่นร้องต่อศาลปกครอง แล้วทาง กกต.จะมีการยืนยันให้การเลือกตั้งในการแบ่งเขตแบบนี้ ถ้าหากศาลปกครองจะตัดสินมาภายหลัง ต้องมีผู้รับผิดชอบ
นายสุรชาติ กล่าวต่อว่า หลักการการยึดอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เมื่อมีการเอาเศษเสี้ยวของแต่ละแขวง จะเห็นได้ว่ามีรูปร่างการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ทั้งที่การแข่งเขตเลือกตั้งควรจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และประชาชนไม่ได้มีความใกล้ชิดกัน พรรคเพื่อไทยได้เสนอไปแล้วว่าควรจะยึดเขตการเลือกตั้ง ตามแบบให้ใกล้เคียงกับปี 2554 และปี 2557 มากที่สุด