เงินบาทเปิดตลาด 34.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า ขณะที่ “ECB” เคาะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% สกัดเงินเฟ้อ ส่วนตลาดสหรัฐฯ กลับมาสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +1.76% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความวิตกต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง อาจช่วยหนุนให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าสู่สินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยได้บ้าง หลังเป็นฝั่งขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็อาจช่วยให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
อย่างไรก็ดี หากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามการปรับลดสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (แต่ต้องเห็นราคาทองคำปรับตัวลงแถวโซนแนวรับ เช่น 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทั้งนี้ เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจไม่ได้ชัดเจนมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็อาจรอดูผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้าก่อน นอกจากนี้ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.25-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจมีแรงซื้อจากผู้นำเข้ากลับมาได้บ้าง
ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.50 บาท/ดอลลาร์
สำหรับบรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดยดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +1.76% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความวิตกต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป จากการที่บรรดาธนาคารใหญ่ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างร่วมมืออัดฉีดสภาพคล่องให้กับธนาคาร First Republic Bank ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางของสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่อง ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ หุ้นกลุ่มธนาคารรีบาวด์ขึ้น (JPM +1.9%, BofA +1.7%)
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ขนาดใหญ่ (Nvidia +5.4%, Microsoft +4.1%) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดคงมุมมองว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปได้ไม่เกิน 5.25% (ตาม Dot Plot เดือนธันวาคมที่ผ่านมา) และเฟดมีโอกาสจะกลับมาลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ภายในปีนี้
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นกว่า +1.19% หลังผู้เล่นในตลาดคลายความวิตกกังวลต่อปัญหาธนาคาร Credit Suisse จากการที่ทางการสวิสฯ พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้ แม้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.50% (ตามที่เราคาดการณ์ไว้) แต่ทาง ECB ก็ได้เน้นย้ำว่า ธนาคารยุโรปมีฐานะการเงินที่ดี และทาง ECB ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง หากจำเป็น ซึ่งมุมมองดังกล่าวของทาง ECB ก็มีส่วนช่วยลดความวิตกกังวลของผู้เล่นในตลาด
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ต่างเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างไม่มั่นใจว่า ECB จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ จากความผันผวนในตลาดช่วงที่ผ่านมาจากประเด็นความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร อย่างไรก็ดี การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ของ ECB พร้อมกับเน้นย้ำความเชื่อมั่นในระบบธนาคารยุโรป รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.58%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเฉพาะในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมของ ECB และถ้อยแถลงของประธาน ECB หลังการประชุม แต่โดยรวม ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.4 จุด และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า
ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองทองคำ กอปรกับผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองว่า บรรดาธนาคารกลางหลักอาจสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ตามการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ได้ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านโซน 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลง สู่ระดับ 1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยตลาดคาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม อาจทรงตัวที่ระดับ 67 จุด ซึ่งอาจยังคงช่วยหนุนแนวโน้มการบริโภคในฝั่งสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดังกล่าว โดยหากคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะสั้น และระยะปานกลาง ชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจชี้ว่า เฟดมีแรงกดดันที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย “ลดลง” โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เผชิญความปั่นป่วนจากความกังวลปัญหาของระบบธนาคาร ซึ่งเราประเมินว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
นอกจากการประชุมของธนาคารกลางดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯและยุโรป ต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารอาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นนี้ได้