“ปธ.ชวน” แถลงขอบคุณสื่อก่อนประกาศ “ยุบสภา” แจงเหลือส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ 393 คน ภูมิใจทำหน้าที่ 4 ปีฝ่าวิกฤตสารพัด เผย “ส.พระปกเกล้า” ติง ‘สมาชิกหัวสมัยใหม่’ แต่งกายแปลก อบรมมีสิทธิเสรีภาพสูงแต่ต้องยึดข้อบังคับ-ก.ม. ถึงจะอยู่ร่วมกันได้
วันที่ 20 มี.ค.2566 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อส่งผลช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า และชี้แจงการทำงานที่ผ่านมาของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ว่า คาดว่าในวันนี้ (20 มี.ค.) ราชกิจจานุเบกษาจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา ดังนั้นตนจึงขอรายงานสถานภาพสมาชิกสภาฯชุดที่25 เป็นครั้งสุดท้าย ดังนี้ จำนวนส.ส.เริ่มต้น 500 คน แต่หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคไป ทำให้มีส.ส.ต้องพ้นสมาชิกภาพ 11 คน มีส.ส.ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีเสียบบัตรแทนกัน 3 คน มีส.ส.ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากกรณีการก่อสร้างสนามฟุตซอล 4 คน นอกจากนี้ยังมีส.ส.จากพรรคต่างๆที่พ้นสมาชิกภาพโดยไม่มีการเลือกตั้งซ่อม และไม่มีการเลื่อนลำดับ 4 คน มีส.ส.ลาออกและเลื่อนลำดับ ในช่วงระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 180 วันก่อนการเลือกตั้ง ทำให้มีสมาชิกลดลงไป 84 คน เสียชีวิต 1 คน สรุปส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน 393 คน
ประธานสภาฯ กล่าวต่อว่า หากทบทวนการทำงานของสภาฯชุดที่ 25 ที่ถือเป็นชุดพิเศษที่เริ่มใหม่ หลังจากว่างเว้นไม่มีการเลือกตั้งมา 5 ปี และถือเป็นส.ส.ใหม่เกิน 500 คน แม้จะมีข้อวิจารณ์เรื่องวัฒนธรรมพฤติกรรม โดยเฉพาะที่ทางสถาบันพระปกเกล้า ได้ติติงเกี่ยวกับพฤติกรรมสมาชิกที่ผิดแปลกไป โดยเฉพาะการแต่งกาย ตนจึงได้แจ้งไปยังประธานคณะกรรมาธิการกิจการ สภาฯ ไปตักเตือนสมาชิกแต่ละพรรคการเมือง ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาฯ แม้สมาชิกบางคนจะพยายามแสดงความเป็นคนสมัยใหม่ ด้วยการแต่งกายที่ดูไม่ให้เรียบร้อย แต่สังคมประชาธิปไตยสำคัญที่สุดคือข้อบังคับกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ สังคมก็อยู่ยาก เพราะสังคมนี้คนมีสิทธิเสรีภาพสูง จะอยู่ได้ต้องเคารพกฎเกณฑ์กติกา จึงได้กำหนดเป็นหลักสูตรอบรมสั้นๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก รวมถึงโครงการเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต ถึงตนจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ก็จะกำหนดเป็นนโยบายต่อไป นอกจากนี้ในช่วงปลายสมัยประชุม แม้จะพบปัญหาที่ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถนำหรือควบคุมองค์ประชุมได้ แต่ในภาพรวมสภาฯ ได้ฝ่าวิกฤตตั้งแต่เปิดสมัยประชุมวันแรก มีการใช้สถานที่ประชุมหลายแห่ง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการหยุดการประชุมไป 1 เดือน แล้วมีการชดเชยในภายหลัง แต่โชคดีว่า สภาฯขยันทำงานในตอนต้น จึงไม่มีกฎหมายค้าง ประกอบกับรัฐบาลเสนอกฎหมายมาน้อย
“แม้ช่วงปลายสมัยประชุมจะเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ แต่ 4 ปีผมภูมิใจที่สภาฯอยู่มาได้ ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มีแบบนี้ทุกครั้ง ถ้าไม่มองในช่วงปลายสมัยประชุม สมาชิกต่างทำหน้าที่กันได้เกือบครบ แม้ช่วงท้ายจะยังมีกฎหมายค้างอยู่เช่น ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา รวมถึงข้อปรึกษาหารือของสมาชิกกว่า 11,000 เรื่อง ที่เป็นผลไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ผมนั่งเป็นประธานมา 4 ปี อาจแปลกสำหรับข้าราชการ ที่ปกติแล้วประธานสภาฯมักจะมอบรองประธานฯทำหน้าที่ แล้วเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปประชุมสภาฯร่วม แต่ผมทำหน้าที่ตลอด เพราะเห็นว่าก่อนหน้านี้ไม่มีสภาฯมา 5 ปี ทางสมาชิกก็ให้ความร่วมมือด้วยดี จากนี้ในอนาคตหากมีสภาฯชุดใหม่ ผมก็อยากให้นำมาเป็นบทเรียน ทั้งแง่บวกและลบ ดำรงไว้ซึ่งนิติบัญญัติ ตรวจสอบฝ่ายบริหารตามกฎหมาย และใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ทำพฤติกรรมที่หาผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสม มานั่งในกรรมาธิการ พูดจาข่มขู่ คุกคามกันในที่ประชุม ทำให้เป็นภาระต่อคณะกรรมการจริยธรรม เปลืองทั้งงบประมาณ เอกสาร ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ว่ากันว่าเป็นฉบับปราบโกง แต่ต้องยอมรับว่าการทุจริตยังระบาดไปทั่ว ไม่เพียงแต่ส.ส. แต่ยังลามไปในวงข้าราชการอีกด้วย”นายชวน กล่าว