วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา“นโยบายพรรคการเมือง”.... เสี่ยง“หนี้ทะลุเพดาน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา“นโยบายพรรคการเมือง”…. เสี่ยง“หนี้ทะลุเพดาน”

นับตั้งแต่ปี 2544 ที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่พรรคการเมืองโดย “พรรคไทยรักไทย” นำนโยบายประชานิยมมาใช้หาเสียงและผูกใจประชาชน จนอานิสงส์มาถึง “พรรคเพื่อไทย” ที่ได้พึ่งเนื้อนาบุญมาจนถึงวันนี้ รวมถึงกลายเป็นต้นแบบให้รัฐบาลต่อๆ มา ที่เข้ามาบริหารประเทศต่างพากัน “เสพติดประชานิยม” กันงอมแงม

เรียกว่าตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาประเทศด้วยนโยบายที่สร้างความมั่งคั่งแบบมั่นคงและยั่งยืน เพราะพรรคการเมืองต่างพากัน “ติดกับดัก…ประชานิยม” จนโงหัวไม่ขึ้น ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ ดูเหมือนว่า การนำเสนอนโยบายแนวประชานิยม ดูจะเข้มข้นกว่าทุกครั้งมีการเกทับ กัน

เมื่อไม่กี่วันก่อน “ดร.กีรติพงษ์ แนวมาลี” จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่อุตส่าห์ไปรวบรวมนโยบายพรรคการเมืองและแยกแยะในงานสัมมนาแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า นโยบายที่ไม่ซ้ำกันของ 9 พรรคการเมือง อาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 3.14 ล้านล้านบาท เทียบกับงบประมาณของรัฐบาลปี 2566 ที่ 3.18 ล้านล้านบาท เรียกว่าเกือบเท่างบประมาณประจำปี (ยังไม่รวมเงินนอกงบประมาณ) และหากมีงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้รัฐต้องกู้เพิ่ม จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะ

ลองดูตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยจะเห็นว่า ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดย ณ สิ้นเดือนม.ค.2566 ไทยมีหนี้สาธารณะ 10.69 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 61.26% ของ GDP เทียบกับสิ้นเดือนก.ย.2562 ที่ 6.90 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.06% ของ GDP หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการก่อหนี้ในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ การบริหารหนี้ กู้เงินมาในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

อันที่จริงตามหลักการเดิม เพดานหนี้สาธารณะของไทยไม่ควรเกิน 60% ต่อ GDP ตามการกำหนดของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ

แต่ในช่วงโควิด-19 “รัฐบาลลุงตู่” ได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่การคลังให้กับรัฐบาล ในการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยขยายเพดานไปที่ 70% ต่อ GDP

นั่นหมายความว่า  หากต้องก่อหนี้เพิ่มตามนโยบายพรรคการเมืองหาเสียงแล้ว อาจสร้างปัญหาในระยะยาวจากการใช้งบประมาณภาครัฐเกินตัวและการใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งตรวจสอบได้ยากมากๆ ตรงนี้นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง

ครั้นเมื่อถามว่า หากพรรคการเมืองนั้นๆ ได้เป็นรัฐบาล “จะเอาเงินมาจากไหนชดเชย” นักการเมืองเหล่านั้นมักจะตอบว่า งบประมาณมีเพียงพอหากจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้ คำยืนยันจากปากนักการเมืองเพียงแค่ว่า “งบประมาณจะมีเพียงพอถ้าจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพนั้น” ไม่ได้บอกว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคให้ความสำคัญต่อวินัยการเงินการคลังแค่ไหน

ความจริงพรรคการเมืองที่หาเสียง อย่าบอกแค่ว่า จะทำอะไร แต่ควรแจกแจงให้ประชาชนรู้ว่า แต่ละนโยบายจะต้องใช้เงินปีละเท่าไหร่ ใช้จากแหล่งใด เช่น จากการลดรายจ่ายงบประมาณ จะลดงบประมาณด้านใด ของกระทรวงใด ควรจัดทำตัวเลขรายจ่าย ทั้งรายจ่ายรวม ว่านโยบายทั้งหมดใช้เงินเท่าไหร่ และถ้าเป็นไปได้แจกแจงเป็นรายนโยบายยิ่งดี เพื่อให้ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

จะว่ากันแบบแฟร์ๆ นโยบายประชานิยมก็ไม่ใช่สิ่งที่เสียหายเสียทีเดียว หากใช้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ โดยมีเงื่อนเวลาและมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และใช้เมื่อยามจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่หว่านแหไปทุกกลุ่ม อย่างที่พรรคการเมืองกำลังหาเสียง

ที่สำคัญต้องทำควบคู่ไปกับการหารายได้และการปรับโครงสร้างของรายได้ภาครัฐ เพื่อสร้างระบบการคลังที่ดี รวมถึงสร้างความมั่นคงทางการคลังควบคู่ไปด้วย พรรคการเมืองที่หาเสียงล้วนแต่มีนโยบายใช้เงิน แต่ไม่มีพรรคไหนบอกว่า จะเอาเงินมาจากไหนมาดำเนินนโยบาย

อาจจะมี “ภาษี” เป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นรายได้ที่จะมาชดเชยในส่วนที่ถูกนำไปใช้ในนโยบายประชานิยม ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่าย ไม่เคยมีรัฐบาลไหน-พรรคการเมืองไหนกล้าขึ้นภาษี เช่นเดียวกัน ในการหาเสียงครั้งนี้ ไม่มีพรรคการเมืองไหนบอกว่าจะขึ้นภาษีเพื่อมาดำเนินโครงการประชานิยม

ในที่สุดพรรคการเมืองเหล่านี้ จะหาเงินมาได้และง่ายที่สุดคือ การ “ก่อหนี้” เพิ่ม เพราะนโยบายเหล่านี้ได้สัญญากับประชาชนไว้ ดังนั้นเมื่อเป็นรัฐบาลก็ต้องกู้เงินมาดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นั่นเท่ากับว่า จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

ยิ่งกว่านั้น โครงการประชานิยม ส่วนใหญ่มักจะมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งมีให้เห็นตลอด แต่นักการเมืองยังเสพติดนโยบายประชานิยม เอามาปรนเปรอประชาชนจนแทบสำลัก นโยบายส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายแบบให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข จะต้องใช้งบประมาณภาครัฐสูง สร้างภาระทางการคลังและสร้างผลเสียระยะยาวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

หลายๆ นโยบาย นอกจากต้องใช้เงินมหาศาลแล้ว อาจจะเป็น “ดาบสองคม” สร้างผลกระทบตามมา เช่น นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในมุมบวก จะทำให้แรงงานมีรายได้มากขึ้น ทำให้คุณชีวิตดีขึ้นกว่า 20 ปี ที่ค่าแรงโตไม่ทันค่าครองชีพ แต่ก็มีเรื่องต้องระวังทั้งในเรื่องเงินเฟ้อ เพราะผู้ผลิตจะต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ หรือผู้ประกอบการอาจเลิกจ้าง เพราะต้องการลดต้นทุน รวมถึงทำให้ศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยน้อยลง เป็นต้น

นโยบายเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ เช่น บางพรรคเพิ่มเบี้ยสูงอายุจากเดิม 600 บาท 1,000 บาท เป็น 3,000 บาท อาจต้องใช้เงินปีละ 5 แสนล้านบาท แม้แต่การประกันราคาสินค้าเกษตร ก็ต้องใช้เงินเกือบๆ 5 แสนล้านบาทเช่นกัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภาระทางการคลังทั้งสิ้น

ขณะที่ในระยะยาว ประเทศต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลิตสินค้ามีคุณภาพส่งออก หาเงินเข้าประเทศ ไม่ใช่เอาเงินในประเทศมากระตุ้น ซึ่งหมุนได้แค่รอบเดียว พรรคการเมืองไม่ควรหวังผลแค่สั้นๆ แต่ควรมีนโยบายในระยะยาว เช่น การปฏิรูปการศึกษา การแก้ปัญหาหนี้ที่ทำได้จริง แก้กฎหมายให้เอสเอ็มอี. เข้าถึงแหล่งทุน ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวไปสู่สังคมดิจิตอล เป็นต้น

หากพรรคการเมืองยังคงแข่งขันเรียกคะแนนนิยมด้วยนโยบาย ลด-แลก-แจก-แถม แบบไม่บันยะบันยัง จากเดิมไทยถูกวางในจุดที่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะปัจจัยพื้นฐานดี

แต่เมื่อพรรคการเมืองไม่สนใจ “วินัยการเงินการคลัง” ไทยก็จะถูกมองว่า มีความเสี่ยงทางการเมืองสูง นโยบายประชานิยมอาจจะฟังดูดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาว…มีผลข้างเคียงตามมามากมาย

……………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…. “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img