แม้กระแส รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศไทย แต่ ผู้ประกอบการโรงกลั่น ยังมั่นใจว่า น้ำมันยังมีความจำเป็นต่อการใชเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ไปอีกหลายปี มีความจำเป็นกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก
โดยในปัจจุบันนั้นประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ 7 แห่ง ประกอบไปด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 280,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 275,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 215,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 165,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 174,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่นน้ำมัน 120,000 บาร์เรลต่อวัน และ โรงกลั่นน้ำมันฝาง กำลังการกลั่นน้ำมัน 2,500 บาร์เรลต่อ วัน
อย่างไรก็ตาม หาก “บางจาก” ซื้อหุ้น “เอสโซ่” แล้วเสร็จ จะส่งผลให้ “บางจาก” กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มเป็น 294,000 บาร์เรลต่อวัน มีสถานะเป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทันที ดังนั้นการลงทุนครั้งนี้ของ “บางจาก” แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันยังเติบโตได้ในอนาคต และมีการแข่งขันกันมากขึ้นทั้งในธุรกิจการกลั่นและธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน แม้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นก็ตาม
“บางจาก EV ดิสรัปชั่น คาดความต้องการใช้น้ำมันอีก 40 ปี”
“ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า น้ำมันยังมีความต้องการใช้ไปอีกนาน 35-40 ปีข้างหน้า เนื่องจากการใช้น้ำมันยังมีความจำเป็นในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การซื้อหุ้นของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จะเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจโรงกลั่นของบริษัทได้เป็นอย่างดี และจะทำให้เกิด Synergy ในการจัดหาน้ำมันดิบได้หลากหลายขึ้น และบางจากมีปริมาณน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นเอสโซ่ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหลังมีการ Synergy ร่วมกันราว 1.5-2 พันล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้หากการซื้อหุ้นเอสโซ่แล้วเสร็จ จะส่งผลให้บางจากได้สินทรัพย์โรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน และมีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 294,000 บาร์เรลต่อวัน มีสถานะเป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และได้สถานีบริการน้ำมันของเอสโซ่กว่า 700 แห่ง จะส่งผลให้บางจากมีสถานีบริการน้ำมันรวมเป็น 2,150 แห่ง และส่งผลให้บางจากมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ขายน้ำมันผ่านสถานีบริการขยับขึ้นเป็น 30% เข้าใกล้เบอร์ 1 อย่างบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 42%
“ไทยออยล์เร่งลงทุนโครงการ CFP หนุนกำลังกลั่นขึ้นอันดับหนึ่งของไทย”
ขณะเดียวกันนี้ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้วางแผนการขับเคลื่อนการลงทุนระยะสั้น 3 ปี (ปี2566-2568) ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ ประมาณ 35,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ฯ จะใช้สำหรับลงทุนโครงการพลังงานสะอาด หรือ Clean Fuel Project (CFP) และใช้ลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) กับทาง PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนที่เหลือใช้สำหรับการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการในอินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
โดยการลงทุนโครงการ CFP นั้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 จะส่งผลให้มีกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวันจากปัจจุบัน 275,000 บาร์เรลต่อวัน กลับมาแซงหน้าบางจากขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ส่วนปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ โดยหลักแล้วจะเน้นการขายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ทั้งน้ำมันเครื่องบิน (Jet) และดีเซล ส่วนที่เหลืออาจส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา รวมถึงเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
“การควบรวมบางจาก-เอสโซ่ ชี้เป็นโอกาสของการ Synergy”
“บัณฑิต ธรรมประจำจิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทฯ คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามแผน จากปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไป 90 % และปีนี้ คาดว่าจะเป็นปีที่มีการใช้แรงงานเข้าสู่พื้นที่มากที่สุด ประมาณ 15,000 คน เพื่อเร่งการก่อสร้าง โดยตั้งเป้าหมายจะให้หน่วยผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 แล้วเสร็จก่อนภายในไตรมาส 1/2567
นอกจากนี้แล้ว “บัณฑิต” ยังได้มองการแข่งขันธุรกิจโรงกลั่นหลังจากบางจากซื้อหุ้นเอสโซ่ว่า ธุรกิจการกลั่นที่มีการซื้อหุ้นกันนั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น แต่กำลังการกลั่นของประเทศไทยยังคงเดิม ดังนั้นจะไม่เกิดผลกระทบกับบริษัทฯ ทั้งนี้ไทยออยล์ ยังเป็นท็อปเทียร์ของอุตสาหกรรม ความสามารถในการแข่งขันยังแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน ภายหลังจากบางจากดำเนินการซื้อหุ้นเอสโซ่ ซึ่งมีโรงกลั่นอยู่พื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ใกล้กับโรงกลั่นไทยออยล์ก็จะทำให้เป็นโอกาสของการ Synergy ระหว่างกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายในอนาคต
…………………………..
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย “ไรวินทร์”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)