“ภท.” เปิดพรรครับทูตอียู15 ปท. “อนุทิน” ขอช่วยปลดล็อคช่วยชาวประมงไทย ห่วงกระแสยุบพรรค ชี้ยิ่งทำยิ่งใหญ่ขึ้น ย้ำจุดยืนเงื่อนไขร่วมรัฐบาลดัน “กม.กัญชา – ไม่แตะม.112”
วันที่ 26 เม.ย.2566 เวลา10.45 น. ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังคณะเอกอัครราชทูตจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) 15 ประเทศ อาทิ ออสเตรีย เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเชค เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน เป็นต้น เข้าพบเพื่อสอบถามถึงสถานการณ์ของประเทศไทย
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า เอกอัครราชทูตจากอียูได้หารือถึงสถานการณ์การเมือง สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ตลอดจนแนวทาง และเจตนารมณ์ของพรรคภูมิใจไทยที่มีต่อประเทศกลุ่มประชาคมยุโรป ซึ่งเป็นการหารือที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ และความเข้าใจ โดยมีการถามถึงความคาดหวังว่าจะต้องมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างไรบ้าง ซึ่งตนได้เล่าถึงความพร้อมของพรรคภูมิใจไทยต่อการเลือกตั้ง ซึ่งตนบอกว่าเราเตรียมพร้อมมามากกว่า 1 ปีแล้ว วันนี้พรรคจึงมีความพร้อมอย่างมาก นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตจากอียูยังถามถึงท่าทีของพรรคหลังการเลือกตั้ง ซึ่งตนยืนยันว่า พรรคยังไม่ได้พูดคุยกับใครในการกำหนดทิศทางทางการเมือง พรรคจะยึดมั่นในกติกาทางการเมืองที่เป็นสากล โดยพรรคลำดับแรกต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย พรรคที่ได้ส.ส.มากกว่าก็เป็นแกนนำดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และตำแหน่งต่างๆ ต้องเป็นไปตามกติกา
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในการหารือยังพูดถึงปัญหาของผู้ประกอบกิจการประมงของไทย จากการที่ตนลงพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ ได้เยี่ยมกลุ่มผู้ประกอบกิจการประมง ได้รับทราบปัญหา อุปสรรค หลายๆอย่าง โอกาสที่ถูกปิดกั้นจากมาตรฐานที่ถูกกำหนดโดยอียู จึงเป็นจังหวะดีที่เอกอัครทูตอียูมาหารือพอดีจึงได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งตนบอกว่าเวลาผ่านไปหลายปีแล้ว สถานการณ์ประเทศ สถานการณ์การเมือง แตกต่างจากเดิม สิ่งที่เป็นอุปสรรคคนที่มาเป็นรัฐบาลจะต้องแก้ไข ตนจึงแสดงจุดยืนหากกลับมาบริหารประเทศ ปัญหาของพี่น้องประมง พรรคภูมิใจไทยจะเร่งแก้ไข จะมีการเจรจากำหนดเงื่อนไขใหม่ อะไรที่เป็นอุปสรรคต้องได้รับการแก้ไข
นายอนุทิน กล่าวว่า เอกอัครราชทูตอียูได้สอบถามถึงสถานการณ์การเลือกตั้งว่าจะมีการยุบพรรคอีกหรือไม่ ซึ่งเราได้แจ้งว่า เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เข้าใกล้ระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด ส่วนที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยคือการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ยังมีส.ว. แต่เราก็บอกว่าให้พ้นไปตามกาลเวลา ซึ่งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปีหน้าส.ว.ก็หมดอำนาจตรงนี้ไปแล้ว วันนี้เราต้องรักษาประชาธิปไตยไว้มากที่สุด การเลือกตั้งถือเป็นโอกาสของประชาชนขณะที่พรรคการเมืองต้องสามัคคีกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์อำนาจนอกระบบเอาประชาธิปไตยออกไปจากมือประชาชน ส่วนหลังการเลือกตั้งหากจะค้านก็ต้องค้านเพื่อปกป้องประโยชน์ประเทศ ไม่ใช่มุ่งทำลายสาดโคลนฝ่ายตรงข้าม เพราะคนบริหารประเทศจะต้องปกป้องตัวเอง ไม่ได้ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเต็มที่ คนเดือดร้อนก็คือประชาชน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พรรคจะไม่มีวันทำ เราเป็นพรรคที่ทำงานพูดแล้วทำ
“ทูตอียูได้สอบถามว่าได้ข่าวจะมีการยุบพรรค ผมจึงบอกว่าไปดูพรรคที่ถูกยุบยิ่งใหญ่ขึ้นทุกวัน เวลายุบพรรคคนสิ้นสภาพคือพรรคและผู้บริหาร ส่วนสมาชิกไปหาพรรคใหม่สังกัดได้ไม่ได้สิ้นสภาพไปด้วย มันไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา ตรงกันข้ามจะยิ่งเป็นการขยายความแตกแยก ผมก็เคยเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 มาแล้ว สมัยเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แต่ต่อให้ทำลายบุคคลได้ก็ยังมีคนร่วมแนวทางเดียวกันสืบสานงานต่อไปได้ ดังนั้น การยุบพรรคไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้าย”นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่า แสดงว่าผู้มีอำนาจนึกถึงเรื่องยุบพรรคจริงใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เราไม่ทราบ พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ติดต่อใครเลย เราลงพื้นที่นำเสนอนโยบายประชาชน เราแต่เสพข่าวเหมือนชาวบ้านทั่วไป
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า เราแสดงจุดยืนเทิดทูนสถาบันด้วยว่าใครแตะมาตรา 112 พรรคภูมิใจไทยร่วมงานด้วยไม่ได้ นี่คือข้อจำกัดเดียวของพรรคภูมิใจไทย และพรรคไม่เอามาตรา 272 เพราะนายกฯต้องมาจากส.ส. และบัญชีแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองเท่านั้น เราไม่เอากระบวนการที่แฝงอยู่ในประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตย
เมื่อถามว่าทำไมทูตอียูถึงมาหารือกับพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน กล่าวว่า พวกท่านก็ไปหาพรรคการเมืองที่เชื่อว่าจะมีบทบาททางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเขาสนับสนุนเรื่องความเป็นประชาธิปไตยเต็มที่อยู่แล้ว โดยอยากเห็นการเลือกตั้งที่โปร่งใสเป็นธรรม
เมื่อถามว่า ทูตอียูได้ถามถึงนโยบายกัญชาด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า มีทูตบางท่านได้สอบถาม ซึ่งเรายืนยันว่านโยบายเราทำสำเร็จแล้ว คือการปลดล็อกออกจากพืชยาเสพติด และใช้กฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขควบคุมป้องกันไม่ให้ใช้ในทางที่ผิด และหากกลับเข้าสภาจะเร่งผลักดันกฎหมายที่ค้างอยู่ให้สำเร็จ ซึ่งร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ไม่ได้ตกไป แต่ค้างอยู่ พรรคจึงนำร่างนี้เข้าสู่กระบวนการเสนอกฎหมายตามขั้นตอนของสภาได้ต่อไป
เมื่อถามถึงการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคเห็นด้วยกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า การตั้งส.ส.ร.เป็นความเชื่อของพรรคภูมิใจไทยอยู่แล้ว หากแก้ก็ควรตั้งส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน จะได้หมดข้อครหาว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย
เมื่อถามว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่แก้มาตรา 112 จะร่วมงานด้วยกันได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ถึงตอนนั้นค่อยว่ากัน เราไม่ได้บอกว่าเรามีปัญหากับพรรคไหน เราไม่เอาการแก้ไขมาตรา 112 แต่เงื่อนไขแรกที่พรรคจะคุยในการร่วมรัฐบาลกับใครหรือไม่ คือจะต้องผลักดันกฎหมายกัญชาในสภาชุดที่จะมาถึงนี้