เข้าใกล้โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เข้าไปทุกที นโยบายชุดใหญ่ไฟกระพริบ!! ของบรรดาพรรคการเมืองยังมีออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง
ว่ากันว่า…เป็นการ “ปล่อยของ” รอบสุดท้าย เพื่อกระแทกใจไปยังบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 52,287,045 คน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อหวังช่วงชิงคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ต้องยอมรับว่า บรรดาชุดนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง!! มีวัตถุประสงค์ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะ…ต่างพุ่งเป้าตามไปกันที่นโยบาย “ประชานิยม” จะเป็นด้านไหนก็ตามแต่เถอะ สุดท้าย…ก็หนีไม่พ้นที่ต้องใช้เงิน!! เข้ามาสนับสนุน
ล่าสุด “พรรคก้าวไกล” ก็เปิดนโยบายการันตี การเมืองดีขึ้น ปากท้องดีขึ้น ภายใน 100 วัน หากได้เป็นรัฐบาล แถมยังได้ขึ้นค่าแรงทันที และยังสามารถนำไปหักภาษีได้สองเท่า
ขณะที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ของ “ลุงตู่” ก็เปิดตัว 16 นโยบาย ทั้งเพิ่มรายได้ประเทศไทยปีละ 4 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มรายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นปีละ 20,000 บาท เพิ่มเงินคนชราภาพ อายุ 55 บาท เป็นคนละ 10,000 บาท การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง และอีกมากมายสารพัด
ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ยังตอกย้ำเรื่องของการเติมเงินในระบบ 1 ล้านล้านบาท ด้วยนโยบายธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน การให้บรรดากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ “กบข.” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม เติมเงินให้กับสมาชิกของกองทุนเพื่อนำมาลดหนี้ หรือแม้แต่การสร้างแต้มต่อให้สตาร์ทอัพ ให้กับ “เอสเอ็มอี”
หรือ…จะเป็นพรรคการเมืองอื่นๆ อีกสารพัดพรรค ที่ต่างก็อาศัยช่วงโค้งสุดท้าย งัดเอานโยบายประชานิยม เรื่องราวของรัฐสวัสดิการ ออกมาแข่งขันกันแบบดุเดือด
แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก!! ที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มีคำถาม ออกมามากมาย ว่านโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอกันออกมานั้น จะหาเงินกันมาจากไหน? แล้วจะทำได้มากน้อยเพียงใด?
อย่างคำถามของ “เคเคพี รีเสิร์ช” โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่เห็นว่า ภาพรวมนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ยังเน้นตัวเลขการให้เงินสนับสนุน ทั้งเงินสวัสดิการ เงินอุดหนุน การแจกเงิน หรือการพักหนี้
แต่การให้ที่ว่านั้น…อาจหย่อนการพิจารณาด้านความเป็นไปได้ และต้นทุนของนโยบาย ทั้งเรื่องของค่าเสียโอกาส และผลที่จะตามมาจากการบิดเบือนแรงจูงใจ และกลไกตลาดอย่างจริงจังและเพียงพอ
ในทางตรงกันข้าม!! นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้นตอเชิงโครงสร้าง และยกระดับรายได้ในระยะยาวที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพลิกประเทศ กลับยังไม่ถูกหยิบยกมาอภิปรายให้เห็นกันอย่างเด่นชัด
ณ เวลานี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังโตช้าลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี แล้ว แถมยังเป็นการเติบโตที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ
ปัญหาใหญ่!! มาจากความสามารถในการสร้างผลผลิตของไทยแย่ลง และไม่สามารถที่จะพลิกฟื้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน กี่เดือน
ที่เห็นได้ชัดเจนคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “การส่งออก” ที่ปีนี้อาจไม่เติบโต แถมเผลอๆ ติดลบด้วยซ้ำ ทั้งที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เรื่องของ “การท่องเที่ยว” ที่แม้เวลานี้กำลังฟื้นตัววันฟื้นตัวคืน แต่ก็ยังไม่ได้กลับมาดีเหมือนเดิมก่อนเกิดโควิด เช่นเดียวกับ “ภาคเกษตร” ที่ยังคงมีผลิตภาพที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ทาง “เคเคพีฯ” จึงตั้งโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไว้เพื่อหาคำตอบ รองรับการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ!! ทั้งเรื่องของแรงงานที่จะหายไปอีก 3 ล้านคน ในอีก 7 ปีข้างหน้า และอีก 11 ล้านคน ในอีกหลายปีข้างหน้า หรือแม้แต่การดึงกลับของฐานผลิตที่สำคัญที่กำลังหนีออกไปซบไปพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านแทน
เช่นเดียวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้าน “เทคโนโลยี” การแข่งขันในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำ จนทำให้ธุรกิจขาดแรงจูงใจในการพัฒนา คุณภาพการศึกษาไทยที่ด้อยลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มขั้น
เรื่องแม้แต่เรื่องของ “การขาดดุลด้านพลังงานอย่างรุนแรง” เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดลง รวมไปถึงปัญหาด้านมลพิษและผลจากโลกร้อน
ปัญหาเหล่านี้!! เป็นคำถามที่สำคัญ เพราะหากไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ก็เท่ากับเป็นการย่ำอยู่กับที่ เดินตามโลกไม่ทัน จนอาจตกเวทีโลกไปเลยก็เป็นไปได้
ทั้งนี้…ทั้งนั้น…“เคเคพี รีเสิร์ช” ทิ้งท้ายไว้ว่า ในเมื่อนโยบายที่อาจแก้ปัญหาได้ตรงจุด บ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินภาครัฐมากเท่ากับวิสัยทัศน์ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และความกล้าทางการเมือง ก็เพียงเท่านั้น!!
………………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)