วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“แบงก์”รวยเละ...แต่“ธุรกิจ”ร่อแร่
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“แบงก์”รวยเละ…แต่“ธุรกิจ”ร่อแร่

ผลประกอบการไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกปี 2566 ที่เริ่มทยอยประกาศออกมา ปรากฏว่า กลุ่ม “ธุรกิจธนาคารพาณิชย์” ปีนี้ยังสวยหรู ไม่มีแผ่วเช่นทุกปี จากรายงานล่าสุด พบว่า 10 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีกำไรสุทธิรวม 60,280.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารที่ทำกำไรได้สูงสุดคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB” มีกำไรสุทธิ 10,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเติบโตขึ้นถึง 17%

ส่วนที่ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ ธนาคารกสิกรไทย “KBANK” ที่มีกำไรสุทธิ 10,741 ล้านบาท แต่กำไรปรับลดลงจากช่วงไตรมาสแรกของปีก่อน 470 ล้านบาท หรือ 4.19% ส่วน ธนาคารกรุงเทพ “BBL” มีกำไรสุทธิ 10,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 42.3% จาก 7,118 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

คราวนี้ลองย้อนกลับมาดูผลประกอบการปี 2565 ทั้งปี ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด มีกำไรรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาทถือว่าเป็นปีแรกที่กำไรทะลุ 2 แสนล้านบาท โตขึ้นเกือบ 10% ขณะที่ จีดีพี.ของประเทศปี 2565 โตเพียง 2-3% เท่านั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าที่ผ่านมา จีดีพี.ของประเทศไปโป่งที่กระเป๋าใคร

จะเห็นว่าผลประกอบการของธนาคารขัดแย้งกับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ยังโงหัวไม่ขึ้นอย่างสิ้นเชิง คาดการณ์ว่า จีดีพี.ปีนี้ทั้งปีจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% เท่านั้น ปัจจัยที่ทำให้ธนาคารมีผลประกอบการดี มีกำไรมากมาย ก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน แต่หลักๆ มีรายได้มาจากดอกเบี้ย ซึ่งเติบโตตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่างๆ ที่ตอนหลังปรับตัวดีขึ้น 

หากเจาะลึกลงไป ทำไมธนาคารถึงกำไรมหาศาล ต้องมาดูที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ที่แบงก์กู้จากชาวบ้านที่ไปฝากเงิน) กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ปล่อยกู้ให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ปรากฏว่า ดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารจ่ายให้มากที่สุดอยู่ที่ 1.9% เท่านั้น แต่ดอกเบี้ยที่คิดจากผู้ที่มากู้ MRR สูงสุดอยู่ที่ 9% จะเห็นว่า “มีส่วนต่าง” หรือ “ช่องว่าง” ระว่าง “ดอกเบี้ยฝาก” กับ “ดอกเบี้ยกู้” มากมาย

แต่จะให้แฟร์ๆ กับทุกฝ่ายคงต้องมาดูที่ “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ” ซึ่งได้หักต้นทุนค่าบริหารจัดการ ค่าความเสี่ยงต่างๆ ออก ก็จะเหลือราวๆ 2.8% เท่านั้น ดูเหมือนไม่ได้มากมายอะไร แต่ถ้าเราเอาไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งของเรา อย่าง มาเลเซีย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 2.1% สิงคโปร์ยิ่งน้อยกว่าแค่ 1.7% เกาหลีใต้ 1.6% จะเห็นว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ…น้อยกว่าเราทั้งนั้น

เท่ากับว่า ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ที่เป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออก มีต้นทุนต่ำกว่าไทย มันสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

ตรงนี้เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามกับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ “แบงก์ชาติ” มาตลอดว่า ทำไม…ไม่กำหนดเพดานไว้บ้าง อีกทั้งไม่มีพรรคการเมืองไหนหาเสียงว่าจะแก้กติกา ให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินฝากและเงินกู้หรือ “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ” แคบลง ไม่ถ่างกว้างเหมือนทุกวันนี้

ส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มธุรกิจธนาคารไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เป็นเพราะ ปรัชญาการทำธุรกิจของธนาคารเปลี่ยนไป จาก “รีเทลแบงก์กิ้ง” มาเป็น “ยูนิเวอร์ซอล แบงก์กิ้ง” คือเดิมมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อ มาเป็นสามารถทำธุรกรรมได้ทุกอย่าง…แบบครอบจักวาล ซึ่งธุรกิจเดิมก็ยังอยู่ แต่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา สร้างรายได้ไม่จำกัด ทุกวันนี้แบงก์ขายประกันชีวิต ประกันรถยนต์ มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ มากมาย

ทั้งนี้เป็นเพราะแบงก์ชาติในสมัยนั้น ได้สรุปบทเรียนเมื่อคราวเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่สร้างผลสะเทือนกับสถาบันการเงิน หลายแห่งต้องปิดกิจการ ธนาคารต้องเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ ธุรกิจได้รับผลกระทบ ต้องล้มระเนนระนาดเพราะธนาคารคือเส้นเลือดสำคัญของธุรกิจ บทเรียนที่ได้จากวิกฤติคราวนั้นคือ ธนาคารจะล้มไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการเปิดให้ทำธุรกรรมกว้างขวางขึ้น

อีกหนึ่งบทเรียนในครั้งนั้น ทำให้ทุกวันนี้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยกู้ เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียตามมา แต่ผลที่ธนาคารเข้มงวด ทำให้ภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยไปไม่รอด โดยเฉพาะ ธุรกิจ SME และ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการจำนวนมาก

มาตรการยกการ์ดสูงของธนาคารนั้น สร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจอย่างมาก สะท้อนจากตัวเลขผู้ประกอบการ ของไทย เพียงแค่ไตรมาสแรกของปีนี้ ต้องปิดกิจการ 3,268 ราย ทุนจดทะเบียน 29,892 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมา ผู้ประกอบการร้านอาหาร ธุรกิจหลักๆ ที่เลิกกิจการเป็นกลุ่ม SME ขนาดเล็ก ทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ธุรกิจเหล่านี้ เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ขอกู้ไม่ผ่าน

ไม่เฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME เท่านั้นที่มีปัญหา โครงการขนาดใหญ่หลายพันล้าน ก็ยังถูกเอ็กซ์เรย์ละเอียดยิบ กว่าจะผ่านได้ “เลือดตาแทบกระเด็น” มีไม่น้อยที่ไม่ผ่าน ทั้งที่เป็นลูกค้าเก่าแก่ บริษัทน่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมักไม่ได้รับการอนุมัติ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เดินหน้าต่อไม่ได้

เป็นเรื่องที่แปลกมาก “ธนาคาร” ควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้า แต่กลับทำตัวเป็น “เสือนอนกิน” กอดกำไรไว้แน่น หน่วยงานที่ดูแลก็ได้แต่มองตาปริบๆ

…………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img