วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ฝ่ายความมั่นคง’ห่วง‘ภัยแล้ง’มากกว่า!! ‘การเมือง’ปล่อยเป็นเรื่องของ‘การเมือง’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ฝ่ายความมั่นคง’ห่วง‘ภัยแล้ง’มากกว่า!! ‘การเมือง’ปล่อยเป็นเรื่องของ‘การเมือง’

ผบ.ทหารสูงสุด กำชับผบ.เหล่าทัพสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ไฟป่า ฝุ่นละออง PM 2.5 

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่  6 พ.ค.66 เรื่องของ “การเมือง” ฝ่ายความมั่นคงปล่อยให้เป็นเรื่องของการเมือง แต่สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นห่วง เห็นจะเป็นเรื่องของ “ภัยแล้ง” ที่กำลังจะเกิดขึ้น สถานการณ์ความมั่นคงประเด็นหนึ่งที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ได้แก่ สถานการณ์ภัยแล้ง ในช่วงที่ผ่านมา และจากนี้ไป ฝ่ายความมั่นคงได้รับการประสานจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวัง และเตรียมการให้พร้อมไว้เพื่อเผชิญหน้ากับภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง 

@@@……ทั้งนี้ ภัยแล้ง คือ ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้งและส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งอาจมาจากมีฝนตกน้อยกว่าที่คาด หรือฝนทิ้งช่วง Dry Spell ซึ่งหมายถึง ช่วงที่มีปริมาณฝนตกไม่ถึงวันละ 1 มิลลิเมตร ติดต่อกันเกิน 15 วัน ในช่วงฤดูฝนเดือนที่มีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงสูง คือ เดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ซึ่งอาจสร้างผลกระทบด้านความมั่นคงในหลายมิติ เช่น ผลผลิตผลทางการเกษตรลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภค และการเลี้ยงปศุสัตว์ เกิดการกัดเซาะ กัดกร่อนภูมิทัศน์ พื้นดินแห้งแล้งและเกิดการพังทลายของผิวดิน เกิดฝุ่นละออง พายุฝุ่น เพราะพื้นดินแห้งแล้งขาดน้ำ ประชาชนเกิดความอดอยากเนื่องจากการขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค เกิดความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบทั้งบนบกและในน้ำ เกิดภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร และเพิ่มโอกาสเกิดโรคระบาด การประกอบการด้านอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก เพราะขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการขบวนการผลิตรวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเกิดไฟป่า เป็นต้นอีกด้วย 

@@@…….อย่างไรก็ตาม คาดหมายว่า ภัยแล้งในประเทศไทยจากนี้ไป จะเกิดใน 2 ช่วง ได้แก่ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 เป็นต้นมา จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือน พ.ค.2566 ซึ่งทำให้ปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับของปีถัดไป ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และ ช่วงกลางฤดูฝนประมาณปลายเดือนมิ.ย.ถึงเดือน ก.ค.2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะมีฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้น .. ภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นหรือบางบริเวณบางครั้งอาจครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วประเทศก็เป็นได้ ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้งในครึ่งปีหลังของปี 2566 นั้น ได้รับการการคาดหมายว่า จะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากมีการสำรองปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร อยู่พอสมควรอย่างน้อยอีก 3 เดือนจนถึงต้นฤดูฝน แต่การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคกลับเกิดขึ้น รุนแรงขึ้น และกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กว้างทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้กำลังพล และยุทธโธปกรณ์ของกองทัพ ประกอบกำลังร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้องไปพร้อมด้วย เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอย่างเร่งด่วนต่อไป และหากปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนน้อยตามที่พยากรณ์ไว้ ก็จะพบสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในช่วงปลายปี 2566 และช่วงแล้งปี 2567 ดังนั้น การวางแผนจัดเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงมีความสำคัญยิ่ง 

@@@…….ผลการสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ด้วยข้อมูล ณ 30 เม.ย.2566 พบว่า 56,129 หมู่บ้าน/ชุมชน ใน 76 จังหวัด คิดเป็น 69.70% จากจำนวนหมู่บ้าน/ชุมชน ทั้งหมด 80,525 หมู่บ้าน/ชุมชน ตั้งแต่ระดับเฝ้าระวัง ไปจนถึงระดับพื้นที่เสี่ยงสูง ซึ่งฝ่ายความมั่นคง เหล่าทัพ และหน่วยทหารที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม จะได้เตรียมการให้พร้อมไว้ เพื่อนำกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือ เข้าร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน, กระทรวงเกษตรฯ, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, การไฟฟ้าฯ, การประปาฯ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น เพื่อดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในปี 2566/2567 ให้คลี่คลาย และไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคง รวมทั้งให้ประชาชน ยังคงมีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคต่อเนื่องต่อไปได้จากนี้ไป 

@@@…….ที่กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 4 โดยมี พล.อ.เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองทัพอากาศ ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มอบนโยบายให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งให้เข้มงวด กวดขัน กำลังพลให้ประพฤติปฏิบัติตนตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและแบบธรรม เนียมทหาร ข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังต่างๆ ทั้งในและนอกเวลาราชการ ปลูกฝังและเสริมสร้างอุดมการณ์ทางทหาร ความจงรักภักดีต่อสถาบัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานทั้งต่อตนเอง หน่วยงาน และประเทศชาติ รวมทั้งให้ติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา อย่างต่อเนื่องและเน้นย้ำให้กองกำลังตามแนวชายแดนเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรอง เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด และสินค้าผิดกฎหมายตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ 

@@@…….โดยที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ รวมถึงได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ของกองทัพ ดังนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย นำเสนอแนวทางการดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงของกองทัพไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศมหาอำนาจ และมิตรประเทศอื่น ๆ โดยยึดถือแนวทางตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ 3 ประการของกระทรวงกลาโหม ได้แก่ การป้องกันเชิงรุก การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง และการผนึกกำลังป้องกันประเทศ เพื่อพัฒนากองทัพให้สามารถรองรับกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของความมั่นคง 

@@@…….กองทัพบก ชี้แจงแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศของกองทัพบก โดยยึดถือนโยบายการรักษาดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การพัฒนาความสัมพันธ์ และความร่วมมือทางทหารกับประเทศเพื่อนบ้าน การสนับสนุนให้มีการฝึกทางทหารร่วมกับกองทัพประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงร่วมกัน สร้างบรรยากาศความเป็นมิตร อันจะส่งผลดีต่อการร่วมกันแก้ปัญหาและเสริมสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาคในอนาคต 

@@@…….กองทัพเรือ นำเสนอแนวคิดในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย การฟื้นฟูความสัมพันธ์และความร่วมมือกับกองทัพเรือมิตรประเทศ โดยจัดให้มีการประชุมหารือ และแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บังคับบัญชาในทุกระดับเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น และให้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งการดำเนินการในลักษณะต่างตอบแทนบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน จะส่งผลให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ทางทะเลมีประสิทธิภาพ มีการปฏิบัติที่เข้าใจและสอดคล้องกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประสานงานและการปฏิบัติงานร่วมกันต่อไป 

@@@…….กองทัพอากาศ บรรยายสรุปเรื่อง ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นระบบที่นำแนวคิดการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NCO) มาใช้ในการปฏิบัติการร่วมทั้งในระดับยุทธการ และยุทธวิธี ปฏิบัติภารกิจทั้งการรบ และมิใช่การรบ โดยการแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้อง ถูกระดับชั้น ตรงเวลา เพื่อให้หยั่งรู้สถานการณ์ร่วมกัน (Shared Situation Awareness) ก่อให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้องในการตัดสินใจ นำไปสู่การปฏิบัติภารกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

@@@…….ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพจัดการฝึกทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งกำชับครูฝึกให้ปฏิบัติตามระเบียบและหลักสูตรการฝึกทหารใหม่ ตลอดจนให้ระมัดระวังอันตรายจากโรคลมแดด (Heatstroke) และอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ดำรงความต่อเนื่องในการสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ไฟป่า ฝุ่นละออง PM 2.5 และให้การสนับสนุนส่วนราชการอื่นตามที่ได้รับการร้องขออย่างเต็มขีดความสามารถ 

@@@…….กองทัพเรือ….พล.ร.ท. ชาติชาย ทองสะอาด รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน ในฐานะประธานกรรมการเตรียมการจัดการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 49 ปีพุทธศักราช 2566 ระบุว่า กองทัพเรือ ร่วมกับ สภากาชาดไทย กำหนดจัดการแสดงกาชาดคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ องค์บิดาของทหารเรือไทย “แสงทิพย์แห่งอาภากร เสียงทิพย์จากราชนาวี” บรรเลงโดยวง Symphony Orchestra ดุริยางค์ราชนาวี ร่วมกับนักร้องรับเชิญ  ในวันที่ 27 มิ.ย.และวันที่ 28 มิ.ย.66 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย ร่วมบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย ได้ที่ บัญชี ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขากองบัญชาการกองทัพเรือ ชื่อบัญชีกาชาดคอนเสิร์ตครั้งที่ 49 บัญชีเลขที่ 115-1-07541-1 ทั้งนี้ผู้ร่วมบริจาค จะได้รับสิทธิประโยชน์จากสภากาชาดไทย และกองทัพเรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่   เฟซบุ๊ก แฟนเพจกองทัพเรือ Royal Thai Navy และ เพจ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ 

@@@…….กองทัพอากาศ….พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ ต้อนรับคนไทย 5 คน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสาธารณรัฐซูดาน ซึ่งเดินทางกลับมาด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือ C-130 ของกองทัพอากาศเป็นชุดสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 พ.ค.66 เวลา 14.50 น. ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง สำหรับภารกิจการอพยพคนไทย ณ สาธารณรัฐซูดาน (ปฏิบัติการนภารักไทย) ได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยกองทัพอากาศได้ใช้อากาศยานแบบ Airbus A340-500 จำนวน 1 เครื่อง และ C-130 จำนวน 2 เครื่อง ทำการบินรวม 8 เที่ยวบิน (รวมทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ) รับคนไทยที่มีความประสงค์เดินทางกลับประเทศทั้งสิ้น 218 คน แบ่งเป็น ชุดแรก 78 คน ชุดที่สอง 135 คน และชุดสุดท้าย 5 คน พร้อมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลและส่งทุกคนกลับบ้านด้วยความปลอดภัย

@@@…….นอกจากการต้อนรับคนไทยแล้ว กองทัพอากาศยังได้จัดให้มีพิธีรับกำลังพลของกองทัพอากาศกลับจากการปฏิบัติภารกิจฯ ด้วย ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ  ได้กล่าวให้โอวาทแก่กำลังพลว่า จากสถานการณ์การสู้รบในกรุงคาร์ทูม สาธารณรัฐซูดาน ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง กองทัพอากาศได้รับมอบหมายให้สนับสนุนกระทรวงการต่างประเทศ ในการช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนกลับสู่ประเทศไทยโดยเร่งด่วนที่สุด และสามารถอพยพคนไทยทุกคนที่ประสงค์จะเดินทางกลับสู่มาตุภูมิได้อย่างปลอดภัย ตามเจตนารมณ์ที่ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” การปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจที่มีความซับซ้อนในระยะเวลาอันสั้น มีความเสี่ยง และมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม โดย กองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการวางแผนที่รอบคอบรัดกุม การทำงานที่ประสานสอดคล้องกันทุกภาคส่วน ตลอดจนกำลังพลต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มีความอดทน เสียสละเพื่อส่วนรวม

 ………………………………….

 คอลัมน์ : “Military Key”

 โดย… “รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img