วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightภัยเงียบ“มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ” พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 7 คน  
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ภัยเงียบ“มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ” พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 7 คน  

”มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ”ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แม้พบได้ไม่บ่อยแต่อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศชาย การตรวจพบในระยะเริ่มแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบปัสสาวะเป็นเลือด มีประวัติสูบบุหรี่ หากวินิจฉัยพบเจอโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ระบบทางเดินปัสสาวะของคนเรา ภายในจะถูกบุไว้ด้วยเยื่อบุที่มีความจำเพาะต่อระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ของเสียในปัสสาวะถูกดูดซึมกลับเข้าไปในกระแสเลือด โดยเยื่อบุดังกล่าวจะบุตลอดทางเดินปัสสาวะซึ่งได้แก่ กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะตามลำดับ หากมีการเกิดมะเร็งของเยื่อบุระบบทางเดินปัสสาวะก็สามารถเกิดขึ้นในอวัยวะที่กล่าวมาข้างต้น แต่มากกว่าร้อยละ 90 มักพบในเยื่อบุของกระเพาะปัสสาวะ หรือเรียกว่า มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

ข้อมูลล่าสุดจากการรวบรวมของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vol.10 2016-2018) พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 2,497 คน เฉลี่ยวันละ 7 คน  คิดเป็นร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 3 ถึง 4 เท่า แต่ที่น่ากังวลคือเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงเกือบร้อยละ 20 ซึ่งการตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้

โดยอาการเริ่มแรกที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะคือ อาการปัสสาวะเป็นเลือด โดยเฉพาะในรายที่ไม่พบอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วยจะพบว่ามีความเสี่ยงในการพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้น หากมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามอาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง น้ำหนักลด ขาทั้งสองข้างบวม ปัสสาวะออกน้อยหรือปัสสาวะลำบากได้

นพ.พร้อมวงศ์ งามวุฒิวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ   กล่าวว่า จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ความสัมพันธ์ต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีหลากหลาย แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือการสูบบุหรี่ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ 2 ถึง 6 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ และต้องใช้เวลาถึง 15 ปีหลังการหยุดสูบบุหรี่เพื่อที่จะลดความเสี่ยงให้เท่ากับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่

สารเคมีอีกชนิดที่พบว่าเป็นสารก่อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะคือสารเคมีจำพวกอะโรมาติกเอมีน (aromatic amines) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในอุตสาหกรรมพลาสติกและเคมี เช่น สีย้อม ยาง โฟม ยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในมลพิษจากสิ่งแวดล้อมเช่นการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซล ยาง ยาสูบ เป็นต้น หรือการอักเสบระคายเคืองจากก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การใส่ท่อปัสสาวะเป็นเวลานาน การบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปหรือของหมักดอง ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะทำการตรวจในผู้ที่มีอาการที่ต้องสงสัย โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งมีโอกาสร้อยละ 20 ที่จะพบมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ การตรวจวินิจฉัยปัจจุบันอาศัยการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะร่วมกับการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการทำอัลตร้าชาวน์อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป

สำหรับการรักษาในปัจจุบัน วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความลึกของมะเร็งว่าลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ โดยถ้ามะเร็งยังอยู่ภายในชั้นเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ กล่าวคือยังไม่ลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ การรักษาคือการผ่าตัดผ่านทางกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะเพื่อตัดก้อนมะเร็งของจากเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ (TUR-BT : Transurethral Resection of Bladder tumor) ซึ่งการผ่าตัดดังกล่าวจะทำการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใส่อุปกรณ์ผ่านทางท่อปัสสาวะ ทำให้ไม่มีแผลหลังผ่าตัด และอาศัยการพักรักษาที่โรงพยาบาลค่อนข้างสั้น

หลังผ่าตัดผู้ป่วยยังสามารถปัสสาวะทางท่อปัสสาวะปกติได้ แต่ถ้ามะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างและลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ การรักษาจะเป็นการผ่าตัดเพื่อเอากระเพาะปัสสาวะและต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงออก ร่วมกับการทำช่องปัสสาวะเทียมทางหน้าท้องแบบถาวร หรือการนำลำไส้มาทำเป็นกระเพาะปัสสาวะเทียม นอกจากนี้การได้รับการรักษาร่วมได้แก่ การใส่ยาเคมีบำบัดในกระเพาะปัสสาวะ การใส่วัคซีนเชื้อวัณโรคชนิดเชื้อเป็นในกระเพาะปัสสาวะ การให้เคมีบำบัดทางเส้นเลือด การฉายแสง หรือการให้ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ก็มีบทบาทในลดอัตราการเกิดเป็นโรคซ้ำ และเพิ่มโอกาสการหายของโรคได้

การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง งดการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารหรือเนื้อสัตว์แปรรูป หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส จะทำให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งร้าย และมีสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการหาความรู้เพิ่มเติม สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผ่านทางเว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง https://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง  https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/  facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ  Line : NCI รู้สู้มะเร็ง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img