ธปท.เผยระบบธนาคารพาณิชย์ไทยแกร่ง ทั้งเงินกองทุน เงินสำรองอยู่ระดับสูง ส่วนหนี้เสียแตะที่ระดับ 2.68% หลังแบงก์ช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ จับตากลุ่มเปราะบางภาระหนี้สูงอาจกระทบความสามารถในการชำระหนี้
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 1/66 ขยายตัวที่ 0.51% ชะลอลงหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ และ Soft loans รวมทั้งการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านตราสารหนี้
อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคการเงินและพาณิชย์ รวมทั้งสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 498 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.68%
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสุทธิกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ ประกอบกับกำไร FVTPL จากตราสารอนุพันธ์เป็นสำคัญ แม้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองจะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้หากเทียบไตรมาสก่อนกำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ลดลง 4% จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นประ กอบกับไตรมาสก่อนมีรายได้พิเศษจากการขายและโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อย แม้ค่าใช้จ่ายสำรองและค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่รายได้ ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง และการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจาก ไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่อง ด้านความสามารถในการทำกำไรปรับลดลง แต่ฐานะการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยยังต้องติดตามผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง และบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง