กกร.อนุมัติต่ออายุ 51 รายการสินค้าและบริการควบคุมอีก 1 ปี พร้อมประเมินภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญ ไข่ไก่-หมู-มะนาว-ผัก ถูกลงเกือบทุกรายการแม้บางรายมีการปรับเพื่มขึ้น แต่เป็นการขึ้นตามฤดูกาล
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 2/2566 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 3 ประเด็นคือ
1.ต่ออายุสินค้าและบริการควบคุมรวม 51 รายการ ออกไปอีก 1 ปี นับจากวันที่ 1 ก.ค.66 ถึงวัน 30 มิ.ย.67 แบ่งเป็นสินค้า 46 รายการ และบริการ 5 รายการ
สำหรับ สินค้าและบริการควบคุมรวม 51 รายการ นั้น แบ่งออกเป็น 10 หมวด 1.หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ 2.หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง 3.หมวดปัจจัยทางการเกษตร 4.หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 5.หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ 6.หมวดวัสดุก่อสร้าง 7.หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ 8.หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค 9.หมวดอาหารและ 10.หมวดอื่น ๆ
ขณะที่หมวดบริการ 5 บริการควบคุม ได้แก่ 1.การให้สิทธิ์ในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า 2.บริการซื้อขายและหรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ 3.บริการทางการเกษตร บริการรักษาพยา บาล บริการทางการ 4.แพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค 5.บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ
2.ให้ความเห็นชอบการต่ออายุ และคงมาตรการต่าง ๆ 7 มาตรการเพื่อควบคุมกำกับดูแลสินค้าและบริการ ให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้บริ โภค ประกอบด้วย
2.1ให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนจำหน่าย แจ้งข้อมูลต่อฝ่ายเลขานุการ
2.2แจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงราคา
2.3แจ้งการทำบัญชีคุมสินค้า
2.4 การขออนุญาตเปลี่ยนราคา
2.5 การกำหนดเงื่อนไขการรับซื้อไว้เป็นกรณีเฉพาะ เช่น บังคับให้ปิดป้ายราคารับซื้อ ป้องกันการเอาเปรียบ ห้ามคิดค่าชั่งน้ำหนัก
2.6มาตรการควบคุมการขนย้าย ได้เห็นชอบให้ ข้าวโพดกำหนดให้ควบคุมการขนย้าย ใน 6 อำเภอ 2 จังหวัดเพิ่มเติม คือ 1.จังหวัดนครพนม 4 อำเภอ อ.เมือง อ.บ้านแพง อ.ธาตุพน และ อ.ท่าอุเทน 2.จังหวัดสงขลา 2 อำเภอ อ.สิงหนครและอ.เทพา
นอกจากนี้ให้เพิ่มพื้นที่ควบคุมการขนย้ายหัวมันสำปะหลังสดและมัน เส้น จำนวน 12 อำเภอ ใน 4 จังหวัด เช่น จังหวัดตาก 5 อำเภอ อ.แม่สอด อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด อ.อุ้มผาง และอ.พบพระ จังหวัดพะเยา ใน 2 อำเภอ อ.ภูซางและ อ.เชียงคำ
จังหวัดน่าน ใน 3 อำเภอ อ.ทุ่งช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.สองแคว และจังหวัดอุตรดิตถ์ ใน 2 อำเภอ อ.บ้านโคก และ อ.น้ำปาด
3.เห็นชอบมาตรการให้มีการแสดงราคาสินค้า และบริการ ณ จุดขายและจุดรับซื้อใน 3 ช่องทางจำหน่าย
– ช่องทางออฟไลน์จำนวน 290 รายการ (240 สินค้า 50 บริการ)
-ช่องทางออนไลน์
– มาตรการแสดงราคารับซื้อสินค้าเกษตร 33 รายการ เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากรมการค้าภายใน ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด สำหรับสินค้าและบริการควบคุม 51 รายการ เพื่อบังคับใช้ต่อไปอีก 1 ปี และถ้ารวมกับสินค้าบริการรวมเป็น 56 รายการ
สำหรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายตัวปรับราคาลดลงประชาชนจำนวนหนึ่งอาจรู้สึกว่าของยังแพง แต่จากสถิติที่กรมการค้าภายใน รวบรวมเก็บจากข้อเท็จจริง พบว่า สินค้าหลายรายการราคาปรับลดลงเช่น หมูเนื้อแดง ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 143 บาทต่อกก. ที่ห้างใหญ่ก็อยู่ที่ราคาเฉลี่ย 120-130 บาทต่อกก.
ส่วนราคาไข่ไก่ ปัจจุบัน ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 4.08 บาทต่อฟอง ซึ่งกรมกรมการค้าภายในประชุมหารือร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ขอความร่วมมือไม่ปรับราคาหน้าฟาร์ม อีกระยะหนึ่ง ซึ่งขอบคุณเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
สาเหตุที่ไข่ราคาปรับสูงขึ้น เพราะปริมาณไข่ใบเล็กกับไข่ใบใหญ่ช่วงหน้าร้อนมีสัดส่วนแตกต่างกัน ภาวะปกติไข่ใบใหญ่จะออก 70% และไข่ใบเล็ก 30% แต่ช่วงหน้าร้อนไข่ใบใหญ่จะเหลือ 50% ไข่ใบเล็ก 50% ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเดือนก.ค.สถานการณ์ราคาไข่จะเข้าสู่สัดส่วนปกติคือ 70:30 และในด้านปริมาณ ไข่ไก่ในตลาดอยู่ในสภาวะสมดุล วันละประมาณ 42-43 ล้านฟอง
ขณะที่ ราคาผักปรับลดลง เช่น ต้นหอม เดือน พ.ค.เฉลี่ย 100 บาทต่อกก. เดือน มิ.ย.ลดลงเหลือ 90 บาทต่อกก. ผักชี ช่วงน้ำท่วมสูงถึง 250 บาทต่อกก. ขณะนี้เหลือประมาณ 100 บาทต่อกก. มะนาว ช่วงเดือนพ.ค.เฉลี่ย 5.50 บาทต่อลูก วันนี้เฉลี่ยเหลือ 3.80 บาทต่อลูก เพราะมะนาวเริ่มออกมากขึ้น เนื่องจากฝนเริ่มตก
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด เพราะอีกไม่นานหลังจากฝนชุกมะนาวจะราคาถูกลงและจะต้องไปแก้ปัญหาอีกด้านต้องไปแก้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวที่ราคาถูก เป็นวัฎจักรที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี
นอกจากนี้ได้รับรายงานว่า เริ่มมีสัญญาณว่าผู้ประกอบการและล้งพยายามที่จะร่วมมือกันหยุดรับซื้อ และกดราคารับซื้อผลไม้จากเกษตรกร ทั้งมังคุดและทุเรียน โดยหากตรวจสอบพบให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบ ติดตาม และเกาะติดการซื้อขายผลไม้ภาคใต้ที่กำลังออกสู่ตลาด
อย่างไรก็ตาม หากมีการจำกัดการรับซื้อ หรือร่วมกันปฏิเสธการรับซื้อ ที่เป็นการผูกขาดและลดการแข่งขัน จะมีความผิดตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 72 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
นอกจากนี้มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 29 กรณีทำให้เกิดความปั่นป่วนด้านราคา มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ