“พล.อ.ประวิตร”ลงพื้นที่ตรวจเขื่อนพระรามหก จ.อยุธยา สั่งคุมเข้มแม่น้ำสายหลัก เจ้าพระยา/บางปะกง ยกระดับรับมือน้ำทะเลหนุน ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมด้วย นาย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม ในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ณ เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีนาย ภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ
พล.อ.ประวิตร ได้รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำ และมาตรการสำหรับการจัดการปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง จาก สทนช. รวมถึงรับทราบ แนวทางการแก้ไขปัญหาความเค็มของน้ำ จากหน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบ อาทิ กรมชลประทาน ,การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งปีนี้มีค่าความเค็มสูงถึง 2.53 กรัม/ลิตร นับว่าเป็นค่าความเค็มที่สูงสุดในรอบ10 ปี
โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวมอบนโยบายว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยอย่างยิ่ง ต่อปัญหาความเค็มของน้ำที่เกินมาตรฐาน (0.5 กรัม/ลิตร) ในการผลิตน้ำประปา ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการใช้น้ำของประชาชน จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆเร่งแก้ไขปัญหา อย่างเร่งด่วน โดยกำชับให้กรมชลประทาน ร่วมกับ การประปานครหลวง เร่งควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้เกินเกณฑ์คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
มอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงมหาดไทยเร่งสร้างการรับรู้ เพื่อควบคุมการเพาะปลูกพืช ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกำหนดมาตรการชดเชย/เยี่ยวยาให้แก่เกษตรกร ที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืช ได้ เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ,ให้จังหวัด ควบคุมน้ำในพื้นที่ไม่ให้สูบไปใช้ระหว่างทาง เพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสีย ที่จะนำไปช่วยผลักดันน้ำเค็ม และให้การประปานครหลวง เร่งรัดแผนงานระยะยาว เพื่อป้องกันความเสี่ยง กรณีค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน
จากนั้น พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้ไปตรวจสภาพพื้นที่บริเวณ เขื่อนพระรามหก เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ สำหรับเขื่อนพระรามหก แห่งนี้ ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ที่สร้างกั้นแม่น้ำป่าสัก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ เพื่อการเกษตร โดยสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2467 มีประตูระบายน้ำแบบเลื่อนขึ้น-ลงในแนวดิ่ง 6 บาน ขนาดบาน กว้าง 12.50 ม. สูง 1.80 ม. สามารถส่งน้ำไปยัง พื้นที่เพาะปลูก ได้ มากกว่า 680,000 ไร่
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง และเน้นย้ำให้คุมเข้มมาตรการต่างๆ ทั้งการป้องกันการสูบน้ำไปใช้ระหว่างทาง และการเพาะปลูกพืชเกินแผนที่กำหนด พร้อมทั้ง สั่งให้ สทนช. จัดสร้างอาคารควบคุม เพื่อป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็ม จากภาวะทะเลหนุน และให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ให้บรรลุผลสำเร็จ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชนผู้ใช้น้ำ และเกษตรกร ต่อไป