สสส.จับมือมูลนิธิแพธทูเฮลท์ สร้างความเข้าใจพ่อแม่ในสถานประกอบการ สอนทักษะสื่อสารเชิงบวกเรื่องเพศกับลูก-หลาน เสริมสัมพันธภาพในครอบครัว นำร่อง 27 โรงงาน พบเกินครึ่งนำไปปรับใช้จริง
นายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากปัญหาสำคัญ เรื่องความท้าทายของการสื่อสารในครอบครัว สสส. จึงร่วมกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบกลไกภายในสถานประกอบการเพื่อส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในเรื่องเพศในครอบครัวกับพนักงานที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กและวัยรุ่น หรือ positive parenting in workplace
ซึ่งเป็นการบูรณาการประเด็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างประเด็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องเพศ จาก ‘เรื่องเพศไม่พูด’ เป็น ‘เรื่องเพศพูดได้’ และการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร โดยดำเนินการนำร่องในโรงงาน 27 แห่งในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร ชลบุรี สระบุรี นครราชสีมา โดยได้ออกแบบหลักสูตรห้องเรียนพ่อแม่ เน้นการเสริมทักษะการสื่อสารเชิงบวกในเรื่องเพศให้กับพ่อแม่ในการพูดคุยกับลูก เพื่อเสริมศักยภาพของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งหลายรายไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานเพราะต้องทำงาน ทำให้เด็กติดเพื่อน ติดเกม ติดอบายมุข หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
“จากการดำเนินงานเกือบ 2 ปี ได้มีการประเมินผลพบว่า พ่อแม่ ร้อยละ 58.38 นำความรู้จากห้องเรียนพ่อแม่ไปใช้กับครอบครัวในระดับมาก ร้อยละ 35.93 นำไปใช้ในระดับปานกลาง และที่เหลือคือส่วนที่ต้องมุ่งนำไปใช้ ส่วนผลจากการนำความรู้ไปใช้ทำให้พ่อแม่เกิดความใกล้ชิดกับบุตรหลานมากขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 73.28 นำไปสู่การลดปัญหากระทบกระทั่งกันภายในครอบครัว ก้าวต่อไป คือ สสส. และภาคีจะเน้นการขยายผลต่อไปยังสถานประกอบการ ด้วยความหวังให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข และสุขภาวะภายในครอบครัวต้องมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของ สสส.” นายชาติวุฒิ กล่าว
นายชูไชย นิจไตรรัตน์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) กล่าวว่า หลักสูตรห้องเรียนพ่อแม่ใช้เวลาอบรม 6 ชั่วโมง ในรูปแบบกิจกรรมมีส่วนร่วม สนุก ได้เรียนรู้ หรืออาจยืดหยุ่นได้ตามความต้องการของสถานประกอบการ เนื้อหาสำคัญหนึ่งในหลักสูตรประกอบไปด้วยทักษะการสื่อสารเชิงบวกกับบุตรหลานตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงมหาวิทยาลัย ครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
โดยเน้นย้ำให้ผู้ปกครองสื่อสารในสิ่งที่บุตรหลานอยากรู้มากกว่าสิ่งที่ผู้ปกครองอยากเล่า และพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาโดยเฉพาะเรื่องเพศ พร้อมกับเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย เมื่อจบหลักสูตรแล้วพ่อแม่ยังสามารถเข้าไปติดตามความรู้ต่อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “คุยเปิดใจ ลูกหลานปลอดภัย” นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงความยั่งยืนของหลักสูตร จึงร่วมมือกับผู้ประกอบการคัดเลือกแกนนำพนักงานในบริษัทมาฝึกอบรมเป็นการเฉพาะ เพื่อผลิตวิทยากรภายใน สะดวกต่อการจัดกิจกรรม การให้คำปรึกษากับเพื่อนพนักงานได้อย่างทันท่วงที
“หลักสูตรที่เน้นการสื่อสารเชิงบวก ยังใช้ได้กับเพื่อนร่วมงาน เพราะหลายครั้งที่พบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในองค์กร จากการสำรวจพนักงานที่ผ่านการอบรมพบว่าพนักงานกว่าร้อยละ 50 นำทักษะไปใช้กับเพื่อนร่วมงาน ทำให้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย” นายชูไชย กล่าว