“ฝ่ายกม.สภาฯ” แนะฝ่ายการเมืองฟังความรอบด้านเลื่อนไม่เลื่อนโหวตนายกฯรอบ 3 ด้าน “สมชาย” บอก สว. ไม่ขัดข้อง ยันเป็นอำนาจประธานรัฐสภา-รอวิป 3 ฝ่ายก็ได้
เมื่อวันที่ 24 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนการประชุมทีมกฎหมายของรัฐสภาที่ได้หารือถึงการจะต้องเลื่อนการโหวตนายกฯในวันที่ 27ก.ค.หรือไม่ ยังไม่ได้ข้อสรุปจะให้เลื่อนการประชุมออกไปหรือไม่ โดยขอให้ไปฟังความเห็นในที่ประชุมวิป 3ฝ่ายวันที่ 26 ก.ค.ก่อน อย่างไรก็ตามทีมกฎหมายมีข้อเสนอต่อประธานรัฐสภาว่า สามารถเลื่อนการประชุมรัฐสภา วันที่ 27ก.ค.นี้ได้ตามอำนาจในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ5
ทั้งนี้ประเด็นเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นประเด็นมีผลกระทบกับพรรคการเมืองฝ่ายต่างๆ จึงต้องรอการหารือกับพรรคการเมืองในการประชุมวิป 3 ฝ่าย วันที่ 26 ก.ค.ก่อน อีกทั้งประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเลื่อนการเลือกนายกฯ ออกไปก่อน ถือเป็นมาตรการชั่วคราว ยังไม่ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งเป็นอย่างใดหรือไม่ ดังนั้นกระบวนการพิจารณาถึงการเลื่อนหรือไม่เลื่อนการประชุม จำเป็นต้องฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้รอบด้านก่อน
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะกรรมการประสานงาน วิปวุฒิ กล่าวว่า ส.ว.ไม่ขัดข้องที่จะเลื่อนวาระเลือกนายกฯวันที่ 27 ก.ค.ออกไป เพราะตนเคยให้ความเห็นแล้วว่า การกำหนดวันประชุมรัฐสภาในวันดังกล่าวอาจจะกระทบการปฏิบัติภารกิจของส.ส. และส.ว. ที่ต้องร่วมกิจกรรมในพื้นที่ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 10 ดังนั้นหากการโหวตหรือการพิจารณายืดเยื้ออาจจะกระทบการเดินทางได้ และหากจะเลื่อนตนมองว่า เลื่อนไปเล็กน้อย คือ วันที่ 3 ส.ค.นัดประชุมใหม่ สามารถทำได้และไม่ล่าช้าเกินไป
“การเลื่อนวาระตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ5 สามารถทำได้ โดยอำนาจของประธานรัฐสภา ซึ่งเคยใช้ในกรณีที่เคยมีการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว เพราะมีเหตุให้เลื่อนได้ หรือหากประธานรัฐสภาไม่ใช้อำนาจ สามารถปรึกษาหารือกับวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 26 ก.ค.ก่อนได้”นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวถึงกรณีที่คำร้องของผู้ตรวจการฯ ที่แนบให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดการเลือกนายกฯไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า เป็นเหตุที่จะทำให้เลื่อนการประชุมได้ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา เช่น ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะนั้น การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯรอบ2 ไม่ได้เลื่อนออกไป ดังนั้นหากเทียบเคียงการประชุมอาจจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าที่ศาลจะมีคำสั่งก็ได้ หรือจะใช้เป็นเหตุให้เลื่อนออกไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งก็ได้
“ในกระบวนการยื่นเรื่องนั้น ศาลรัฐธรรมนูญอาจรับเรื่องไว้พิจารณาสัปดาห์นี้ไม่ทัน และสัปดาห์หน้าการประชุมสัปดาห์ยังเป็นวันหยุดยาว ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ และกระบวนการพิจารณาเป็นเรื่องทางกฎหมายอาจใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน” นายสมชาย กล่าว