วันศุกร์, ธันวาคม 27, 2024
หน้าแรกHighlight“ปวดหัวไมเกรน”คู่ปรับ“คนวัยทำงาน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปวดหัวไมเกรน”คู่ปรับ“คนวัยทำงาน”

สถาบันประสาทวิทยา เผยปวดหัวไมเกรนคู่ปรับของคนวัยทำงาน เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้ โดยหลีกเลี่ยงสิ่งเร้า ที่ก่อให้เกิดอาการปวด 

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะที่พบได้ ในเด็กวัยเรียน วัยหนุ่มสาว แต่ผู้สูงอายุมักไม่เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันและความกดดันอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ต้องเผชิญกับความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จะพบผู้ป่วยอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25-30 ปี มากที่สุด มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยลักษณะของไมเกรนแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ไมเกรนชนิดมีอาการนำ และ ชนิดไม่มีอาการนำ

ไมเกรนไม่มีอาการนำจะปวดศีรษะครึ่งซีกเป็นพักๆ เวลาหายปวดจะหายสนิท ซึ่งการปวดแต่ละครั้งจะนาน 4 ชั่วโมงหรือนานเป็นวันๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อแตก

ส่วนไมเกรนชนิดมีอาการนำจะพบได้น้อยกว่า มักมีอาการนำมาก่อนแล้วจึงมีอาการปวดศีรษะตามมา อาการนำที่พบได้บ่อย เช่น ตาฝ้า เห็นแสงระยิบระยับ บางคนอาจเห็นเป็นภาพมืดตรงกลางทำให้มองไม่เห็นชั่วครู่ อาจมีอาการแขนขาชาอ่อนแรงหรือพูดไม่ได้ชั่วครู่ 

ไมเกรนเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของใครหลายคน และเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคไมเกรนได้

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคปวดศีรษะไมเกรนมีสาเหตุที่เกิดจากภายในร่างกายและจากพันธุกรรม ซึ่งไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ ส่วนสาเหตุที่มาจากภายนอกร่างกายเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดอาการ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลง ทำงานหนักหรือมีความเครียดมากเกินไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารบางชนิด ได้แก่ กล้วยหอม ช็อคโกแลต เนยแข็ง

สำหรับการรักษาแพทย์จะให้ยาแก้ปวดเวลามีอาการปวดและการใช้ยาป้องกันไมเกรนในรายที่เป็นบ่อย ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาเมื่อมีอาการปวดศีรษะแบบรุนแรง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาป้องกันไมเกรนสม่ำเสมอ ทุกวันอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ได้ผลในการป้องกัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีทรมานจากอาการปวดน้อยลงและดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปวดเรื้อรัง ควรฝึกการคลายเครียดจากการทำงานหรือเรียน นอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img